16/07/2022
ผลงานและภาพถ่าย : ส่วยอิง
อิงอิง เยาวชนชาวไทใหญ่ที่อาศัยมาในไทยนานกว่า 7 ปี ได้บอกเล่าถึงมุมมองของเธอเองต่อการศึกษาของประเทศไทย
“สำหรับใครหลาย ๆ คน ในวัยเด็กโรงเรียนอาจเป็นสถานที่ที่ทำให้มีความสุข และสร้างความทรงจำมากมาย แต่สำหรับเราแล้ว เราไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าชีวิตในรั้วโรงเรียนนั้นหน้าตาเป็นยังไง”
“เราชื่ออิงอิง เราเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 4 คนในครอบครัวชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีชื่อว่าเมืองเปง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงตุงประมาณครึ่งวันหากเดินทางด้วยรถยนต์ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ลำบากเราเลยตัดสินใจออกจากบ้านที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา และมาเป็นแรงงานในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักภาษาไทยเลย”
“เราไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพราะว่าครอบครัวของเราไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะส่งเสียให้เรียนได้ และเท่าที่พอจะจำความได้เราก็ต้องทำงานออกหาเงินช่วยพ่อแม่แล้ว โดยงานแรก ๆ ที่เราได้ทำคือการเป็นพี่เลี้ยงเด็กของญาติที่ต้องออกจากบ้านในช่วงกลางวันเพื่อไปทำงานในไซต์ก่อสร้าง”
“และด้วยการที่เราเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยที่ไม่สามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้เลยนั้น ทำให้เราถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ตั้งแต่การไปซื้อของทั่ว ๆ ไปในร้านของชำ หรือแม้กระทั่งการถูกนินทาว่ากล่าวจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทำให้เรากลัวที่จะย้ายที่ทำงานหรือหางานใหม่เพราะกลัวว่าจะถูกโกงมากกว่าเดิม”
“ความเท่าเทียมไม่เคยมีไว้สำหรับแรงงานแบบเราอยู่แล้ว” นี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้และยอมรับจากการอาศัยอยู่ในประเทศไทยในฐานะแรงงานข้ามชาติ
“เมื่อก่อนเราจะชอบคิดว่าการเรียนนั้นไม่สำคัญมีแต่เงินเท่านั้นแหละที่สำคัญ แต่พออยู่อยู่ในประเทศไทยนานขึ้นและได้เห็นเพื่อน ๆ ที่เข้าเรียนหนังสือได้ทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงเพียงอย่างเดียว เพราะเขามีตัวเลือกมาขึ้นในการทำงาน ทำให้เราคิดได้ว่า ถ้าเรามีความรู้ เรียนหนังสือสูง ๆ ก็จะไม่ถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบ และสามารถมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น”
“ทุกวันนี้เราเลยภูมิใจกับตัวเองมาก ๆ ที่วันนั้นตัดสินใจเข้าเรียนใน กศน. ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรงเรียนใหญ่โตก็ตาม แต่มันก็ทำให้เราในตอนนี้ ไม่ถูกคนอื่นมาเอารัดเอาเปรียบเหมือนเมื่อก่อนและสามารถทำอะไรหลายอย่างได้ด้วยตัวเองมากขึ้น อย่างเช่นการต่อบัตรประจำตัวแรงงานของเราเอง ที่เมื่อก่อนเราจะจ้างนายหน้าในการทำให้เพราะเราไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้”
“ทุกวันนี้การเรียนจึงสำคัญมาก ๆ สำหรับเรา เพราะนอกเหนือจากความรู้แล้วยังได้มีเพื่อนใหม่ ๆ ได้เข้าสังคม ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ถึงแม้ว่าตัวเองจะต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นด้วยสถานะของแรงงานข้ามชาติก็ตาม ความพยายามของเรานี้แหละ ที่พาตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ได้ วันที่เราได้มีสิทธิเลือกทำหรือไม่ทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้”
แต่ถึงยังไงก็ตาม เราก็ยังเชื่อว่า “การเรียนรู้ นั้นไม่มีวันสิ้นสุด”
Story from 9 % ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหลายแง่มุม ทั้งภาพถ่ายและงานเขียน ที่ชวนไปสำรวจเรื่องราวชีวิตของประชากร 9 %
นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มูลนิธิเสมสิกขาลัย, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือ, Lanna project และ In Chiang Mai จัดแสดงเมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2565 ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่
โดยผลงานภาพถ่ายและงานเขียนจากนิทรรศการนี้จะเผยแพร่อีกครั้งผ่าน Lanner ตั้งแต่วันที่ 11 – 19 กรกฎาคม 2565
#9%STORIES
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...