15/07/2022
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิก บริษัท ใจบ้าน studio จำกัด โพสต์เฟซบุ๊ก Supawut Boonmahathanakorn ต่อกรณีการนำเสนอภาพคลองแม่ข่าจากเพจต่าง ๆ โดยมีความเห็นว่า
“หลายคนอาจจะได้เห็นภาพคลองแม่ข่าจากเพจต่าง ๆ ที่นำเสนอเรื่องการพลิกโฉมภูมิทัศน์ หรือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงใหม่ มีหลายเสียงที่ให้ความชื่นชม และหลายเสียงก็ห่วงใยเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน สภาพนิเวศธรรมชาติของคลอง รวมทั้งตัวตนของเชียงใหม่ว่าจะถูกพัฒนาไปทางไหน เพราะถ้าดูจากรูปเร็ว ๆ หรืออ่านจากข้อความสั้น ๆ โดยไม่มีรายละเอียด ก็อาจจะเข้าใจเจตนาของโครงการนี้พลาดไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อาจจะไม่ได้ทำการสื่อสารที่ให้รายละเอียดมากกว่ารูปภาพคนสำคัญ ๆ ไปดูงานหรือเยี่ยมชม
ในฐานะที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ เราจึงอยากจะบอกเล่าเพื่อให้ข้อมูลหลากหลายด้าน เพื่อทำให้โครงการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเรียนรู้เรื่องคลองแม่ข่าและการพัฒนาเมืองและชุมชน ที่เราทุกคนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย เพื่อชวนกันมองไปให้ไกลจากจุดที่เรายืนในปัจจุบัน โดยมีเราทุกคนอยู่ในนั้น
อยากจะขอเขียนออกมาเป็น 4 ประเด็นสั้น ๆ ซึ่งอาจจะยาวสักหน่อย แต่อยากให้อ่านและแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อพากันไปข้างหน้าจริง ๆ
1. ทางเดินเลียบคลอง = ท่อรวบรวมน้ำเสีย, เส้นเลือดฝอย, พื้นที่สาธารณะ
อย่างที่รู้กันดีว่าคลองแม่ข่าเน่าเสียจากเราทุกคน ที่บอกว่าเราทุกคนคือ เราทุกคนจริง ๆ ทั้งคนยากดีมีจน คนในชุมชน ผู้ประกอบการ สถานที่ราชการ ตลาด นักท่องเที่ยวที่มาพัก เพราะว่าเมืองเราไม่มีระบบโครงข่ายท่อน้ำเสียที่สมบูรณ์ที่รวบรวมน้ำเสียไปบำบัด และน้อยคนอาจจะรู้ว่าใต้คลองแม่ข่ามีท่อรวมน้ำเสียขนาดใหญ่เพื่อเอาน้ำเสียไปบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียที่ป่าแดด แต่ปัญหาคือ ถึงเราจะมีท่อรวบน้ำเสียขนาดใหญ่ที่ลงทุนมานานเกือย 20 ปี แต่ปัญหาคือมันไม่มีระบบท่อรวบน้ำเสียย่อยเพื่อไปลงท่อนั้น นี่คือเหตุว่าทำไม่น้ำเสียทั้งหมดของฝั่งขวาของคลองแม่ข่า รวมถึงฝั่งซ้ายบางส่วนจึงลงคลองแม่ข่า และข้อมูลของระบบโครงข่ายท่อน้ำเสียก็ไม่อัพเดท พอไม่อัพเดทก็วางแผนจัดการภาพรวมไม่ได้ เมื่อไม่มีแผนที่ชัดเจนจึงไม่ยากที่จะมีงบแก้ปัญหา เพราะคลองหนึ่งเส้นในประเทศเรานี้มีหน่วยงานหลากหลายที่รับผิดชอบ แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นของเราทั้งหมด
ทางเดินเลียบคลอง 750 ม. นี้ที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์ที่เห็นในภาพ สาระสำคัญของมันคือ การวางระบบท่อรวบน้ำเสียของบ้านและย่านนี้ทั้งสองข้างคลอง เพื่อไม่ให้น้ำเสียครัวเรือนทั้งหมดตลอด 750 ม.นี้ลงคลองแม่ข่า แต่รวบไปลงสถานีสูบน้ำตรงสะพานระแกงและสะพานกาดก้อม ส่วนน้ำฝนที่ตกลงมาก็ไหลลงคลองเพื่อรักษาระบบนิเวศ ซึ่งถ้าระบบนี้ work นั้นหมายถึงว่า เราไม่ต้องรองบก้อนโตจากรัฐที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะลงมาแก้ปัญหาทั้งเมือง แต่ท้องถิ่นสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ทำเป็นช่วง ๆ ด้วยงบที่ก้อนเล็กลง ซึ่งต้องชื่นชมเทศบาลเรื่องนี้ในการกล้าของบส่วนนี้มาทดลองทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของคน เพราะในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ชุมชนริมคลองและผม ขาดความเชื่อมั่นว่าเทศบาลหรือหน่วยงานรัฐในระดับจังหวัดจะทำเรื่องนี้จริง ๆ
นอกจากทางเดินเลียบคลองจะมีระบบท่อรวบน้ำเสียสองข้างคลองแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นโครงข่ายเส้นเลือดฝอย ที่จะเชื่อมโยงการสัญจรของชุมชนให้เชื่อมต่อกับเส้นทางหลักในย่านเศรษฐกิจนั้น ๆ ที่คลองผ่านได้ และในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่สาธารณะริมคลองให้กับเมืองได้ใช้ร่วมกัน ซึ่งคลองเป็นของพวกเราทุกคน ทั้งคนในชุมชนและคนอื่น ๆ ในเมือง
การเกิดขึ้นของโครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือของชุมชนในการปรับขยับบ้าน ตัดบางส่วนของบ้าน เพื่อคืนพื้นที่สาธารณะนี้ให้กับเมือง การทำงานหนักของประธานชุมชนในการสื่อสาร เจรจากับทั้งหน่วยงานและสมาชิกในชุมชนที่มีความหลากหลายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมได้แนบรูปถ่ายที่ประธานชุมชน เทศบาล และเรา ตอนปี 2020 มาเพื่อให้เห็นสภาพตอนนั้น การเคาะบ้านรายหลังในการสื่อสารทำความเข้าใจ รวมทั้งการร่วมกันกำหนดต้นไม้ใหญ่ 157 ต้น ริมคลองที่เราจะเก็บรักษาไว้ให้อยู่หลังก่อสร้างเสร็จ
2. สิ่งที่ต้องร่วมกันเรียนรู้และต้องทำให้ดีกว่านี้
ภาพการปรับภูมิทัศน์ที่เห็นวันนี้ อาจจะไม่ได้เป็นเหมือนภาพที่เราร่วมกันคิดฝันร่วมกันกับชุมชนและเทศบาล 100% แต่อย่างน้อยยังดีกว่าที่ไม่ได้เริ่มต้น เพราะแบบที่เรานำเสนอเพื่อเป็นแนวคิดในการพัฒนาร่วมกับคนริมคลองนั้น ต้องปรับให้กับงบประมาณที่ได้มา เราเลยอยากจะนำแบบร่างเหล่านั้นมาแบ่งปัน เพื่อว่าในอนาคต เราจะเห็นสิ่งเรานี้ร่วมกัน ช่วยกันคิดมองและเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาให้เมืองเราได้สิ่งที่ดีที่สุด รวมทั้งให้กำลังใจข้าราชการท่านที่ทำงานจริงจัง
ภาพที่เป็นแบบนั้นยืนอยู่บนหลักการที่เราพูดและต่อรองมาเสมอคือ ต้องไม่มีการดาดคลอง (ท้องคลองและข้างคลอง) เพื่อรักษาระบบนิเวศของคลอง เพราะคลองแม่ข่าที่ไหลผ่านเมืองเก่าเชียงใหม่ 2.6 กม. นั้นยังเป็นคลองธรรมชาติ และการดาดคลองคือการทำคลองให้กลายเป็นท่อเป็นที่ระบายน้ำ โดยไม่คิดถึงคลองในฐานะสะพานนิเวศที่เชื่อมดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง และคลองดาดก็ตัดขาดความสัมพันธ์ของผู้คนและคลองไปอย่างน่าเสียดาย และสุดท้ายคนอยู่ร่วมกับคลองได้ แต่ต้องมีการพัฒนาไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพแบบนี้
แต่งบประมาณที่เทศบาลของจากรัฐส่วนกลางได้มาในวงเงินที่จำกัดมาก แบบและรายละเอียดที่เราเสนอ เช่น การจัดการตลิ่งแบบที่ยังรักษาพื้นที่ปลูกต้นไม้ตามรูป การมีเสาไฟฟ้าและที่นั่งเล่นของคนในชุมชน ท่าน้ำท่าเรือ ฝาท่อที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง จึงต้องถูกตัดออกไป เพื่อทำให้งบนี้ยังทำเรื่องสำคัญคือท่อรวบน้ำเสียใต้การเดินเชื่อมย่านกันเกิดขึ้นได้ เราจึงเสนอได้เพียงการใช้บล๊อคที่ยังปลูกต้นไม้ได้ไม่เหมือนกับคลองดาดทั่วไป ถึงแม้ว่าจะเสนอเรื่องในจ้างชุมชนผลิตบล๊อคเพื่อสร้างงานให้เกิดขึ้น แต่ก็ติดเงื่อนไขที่การรรับรองมาตรฐานการก่อสร้าง เราจึงมีบล๊อคอย่างที่เห็นซึ่งก็ดีกว่าคลองดาดและการดาดท้องคลองในเงื่อนไขที่จำกัด
มีเรื่องที่เสียใจ และคิดว่าคนอื่น ๆ ที่เคยได้ล่องคลองและเห็นคลองที่มีต้นไม้ คือ หลังปรับภูมิทัศน์แล้ว ผู้รับเหมาเก็บได้เพียงต้นฉ่ำฉาใหญ่ ส่วนนี้อยากให้ข้อมูลที่เป็นกลางกับทุกฝ่ายว่า ชาวบ้านบางส่วนก็อยากให้ตัดออกจริงๆ เพราะกิ่งไม้ตกใส่หลังคาสังกะสี และในมุมของผู้รับจ้างก็ทำงานยากและโครงสร้างรากต้นไม้บางต้นก็ติดการวางท่อจริง ๆ ถ้าจะหลบท่อก็ต้องตัดบ้านเพิ่ม ซึ่งจุดนี้ต้องการการยืนยันร่วมกันว่าจะเก็บ รักษาและการดูแลจัดการต้นไม้ระหว่างการก่อสร้างต้องอยู่ใน TOR ในแบบที่ผู้รับเหมาคิดว่าต้องเจอปัญหานี้มาก่อน เพื่อให้ความรับผิดชอบนี้มีวิธีการปฎิบัติและงบประมาณที่ทำได้จริงแน่ ๆ และเราควรมองว่าต้นไม้ใหญ่ที่อยู๋มาแต่เดิมนั้นเป็นของสาธารณะของเมืองด้วย เพื่อการตัดมันจะได้รับการตัดสินใจมากกว่าว่าต้นไม้อยู๋หน้าบ้านใคร จุดนี้มีหลายเรื่องที่เป็นรายละเอียด หากมีการดำเนินงานครั้งต่อไป การมีกรรมการตรวจรับจากตัวแทนชุมชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม อาจจะช่วยทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ทำได้ดีขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐสมัยใหม่ควรทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มแบบนี้
และระหว่างการก่อสร้างนั้นเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งน้ำท่วมชุมชนระหว่างการก่อสร้าง ด้วยเหตุที่เข้าใจได้และเข้าใจได้ว่าหากมีการสื่อสารกันที่มากกว่านี้จะป้องกันปัญหาที่จะตามมาได้ดี เช่น ชุมชนทุกหลังควรรู้ว่าระดับสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจะอยู่ตรงไหน และทำไมต้องเป็นระดับนี้ เพื่อว่าเค้าจะได้เตรียมตัวทั้งเก็บข้าวของ และหาทางแก้ไขในระยะยาวในการจะต่อเชื่อมน้ำเสียของบ้านตนเองลงบ่อพักเพื่อไหลไปลงสถานีสูบ ถ้าเราจัดการรายละเอียดเหล่านี้ได้ดีกว่าเดิม ทุกฝ่ายจะทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งผู้รับจ้าง ชุมชน และความเข้าใจของสาธารณะ
นี่จึงเป็น 750 ม. ที่พึ่งเริ่มต้น ซึ่งเรายังมีคลองแม่ข่าและลำคูไหวอีก 4 กม. ที่เลาะเรียบริมเขตเมืองเก่าและกำแพงเมืองชั้นนอกที่รอการพัฒนา ให้ทำให้ดีขึ้นกว่านี้จากบทเรียนที่เกิดขึ้น หากได้มานั่งสรุปกันจริง ๆ ซึ่งเสียงของประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญของทุกคนนั้นสำคัญ
3. คน-คลอง-เมือง พื้นที่แห่งความเหลื่อมล้ำหรือแบ่งปัน
พอกล่าวถึงการพัฒนาคลองแม่ข่า ภาพที่พวกเราคนทำงานชุมชนและประชาสังคมสื่อสารและยังสื่อสารมาตลอดคือการพัฒนาร่วมของผู้คนริมคลองในฐานะหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนา และส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพัฒนาเมือง ภาพของแม่ข่าที่เรารับรู้และสัมผัสจึงเป็นภาพย่อของเรื่องจริงหลาย ๆ เรื่อง เช่น ความเหลื่อมล้ำกันในสังคม การบริหารจัดการที่แยกส่วนของรัฐ การขาดผังแม่บทการพัฒนา และวาทกรรมที่ต่างฝ่ายต่างใช้โดยไม่ได้พาเมืองและผู้คนไปไหน เพียงแต่รักษาโครงสร้างดั้งเดิมให้อยู่กันไปได้ในเมืองที่บางคนได้โอกาสและบางคนเสียโอกาส
สภาพชุมชนริมคลองที่เราเห็นไม่ว่าเราจะเห็นมันจากมุมไหน ในมุมที่คนในชุมชนมองว่าเป็นบ้านเป็นฐานของชีวิต หรือในมุมที่หน่วยงานรัฐมองว่าเป็นที่เช่าหรือที่บุกรุกของหน่วยงานรัฐ หรือมองจากมุมคนนอกมาก ๆ มองว่าเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ พื้นที่ความเหลือมล้ำ หรือเป็นพื้นที่การต่อสู้ช่วงชิงเชิงอำนาจ สิ่งนี้ไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่มันเกิดขึ้นมาจากความไม่ชัดเจนของขอบเขต นโยบายของการพัฒนาเมืองและชนบทขณะนั้น พอไม่ชัดเจนในขอบเขตกฏหมายถึงมีก็บังคับใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีใครที่อยู่ดีๆอยากไปทะเลาะกับคนอื่น ๆ ในเขตแดนที่ก็ไม่มีใครรู้ พอสถานการณ์ไม่ชัดเจนก็เป็นทั้งโอกาสและช่องว่างที่ทำให้พี่น้องในชุมชนเกิดและขยายตัวขึ้น
ประกอบก็ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนเชิงนโยบายใด ๆ ที่เอาจริงเอาจัง และมีทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลายให้ได้มีส่วนร่วม มันจึงเป็นภาพแบบนี้ นานเข้าภาพแบบนี้ก็ฉายซ้ำว่ามันก็เป้นแบบนี้แหละ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น
และเรื่องสำคัญที่เป็นยาขมของการพัฒนาคลองเลยคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลอง เพราะเมืองเราไม่เคยมีนโยบายการมีที่อยู่อาศัยให้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มีแต่ภาคเอกชนเป็น supply มันจึงมีความย้อนแย้งและเป็นตอสำคัญที่มีอยู่
แต่เราไม่เห็นว่าทำไมเราจึงพัฒนาไปไม่ได้มากกว่านี้ แต่ไหนแต่ไรมาเมืองเราอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งต้องการแรงงานภาคบริการ ยิ่งแรงงานราคาถูกก็ทำให้ต้นทุนธุรกิจถูกลงและกำไรมากขึ้น แต่เรื่องพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัยให้กับแรงงานราคาถูกนั้น เรากลับไม่มีนโยบายหรือเครื่องมือสมัยใหม่ที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้าแรงงานยังไม่มีพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ยากที่เราจะคาดหวังว่าเราจะหลุดพื้นโครงสร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ไม่ได้แข่งกันด้วยราคาหรือการ entertain นักท่องเที่ยว อนาคตของเมืองคือการทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เพราะเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนจะเป็นเมืองที่น่ารัก น่าเคารพและดูแลสำหรับนักท่องเที่ยว
ดังนั้นการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คนในชุมชนควรจะต้องมีส่วนร่วมให้มากขึ้นและมากขึ้นไปกว่าเดิม และท่าทีของรัฐที่ชัดเจนในการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุดจึงสำคัญ ในฐานะกุญแจที่จะไขไปสู่พื้นที่ของความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่จะใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐลดความเหลื่อมล้ำและโอกาสการพัฒนาที่เท่าเทียม สิ่งนี้จึงจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบด้วย การพัฒนา คน-คลอง-เมือง จึงเป็นอะไรที่มากกว่า การเป็นแค่ที่มาท่องเที่ยวถ่ายรูป โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นฐานรากของอนาคต
4. อดีตที่กำหนดอนาคต หรือ อนาคตที่โอบรับอดีต
จะเป็นไปได้มั้ยที่การพัฒนาคลองแม่ข่านับจากนี้ จะยอมรับการมีอยู่ของชุมชน ยอมรับอดีตและสิ่งที่เราต่างทำผิดพลาด อดีตที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครือ เพราะหากเราก้าวข้ามไปพ้นวาทกรรมของอดีต ก็ยากที่เราจะกำหนดอนาคตร่วมกัน แต่หากเรามองอนาคตที่มีโอกาสของทุกคนอยู่ในนั้น เราจะยอมรับอดีตของกันและกันได้ โดยไม่เอาอดีตมาเป็นตัวเราในปัจจุบัน อดีตที่ว่าคือ ความเชื่อที่มีต่อกัน กฏหมายที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และอนาคตที่มองไปไม่ได้ไกลเพราะคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ดีที่สุดแล้ว
จะเป็นไปได้มั้ยนะ ที่เราจะมองการพัฒนาคลอง ควบคู่ไปกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ โดยไม่ได้คิดแบบว่าทำคลองให้สวยกันแล้วค่อยมาทำเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนหรือที่อยู่อาศัย
เป็นไปได้มั้ยนะ ที่เราจะสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ ใช้การวางแผนและคิดเชิงระบบนำกฏหมายและอำนาจที่เป็นขั้น ๆ โดยไม่เห็นภาพรวม ใช้ความรู้เรื่องด้านการออกแบบ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม มากกว่าเครื่องมือที่รัฐแบบเดิมคุ้นเคย และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ แผนแม่บทจะเป็นแผนแม่บทที่ปฏิบัติจริงได้ คนทำงานทุกภาคส่วนจะเห็นปลายทางและบทบาทของตนเองร่วมกัน และที่สำคัญคือเค้าเหล่านั้นจะสนุกมากกว่ากดดัน และกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองในทุกขณะที่เค้าทำงาน ไม่ว่างานนั้นจากยากหรือง่าย
ด้วยความจริงใจและเจตนาที่จะสร้างการเรียนรู้ และให้กำลังใจคนทำงานทุกคน ด้วยหวังว่าการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป มันจะดีขึ้น มีส่วนร่วมขึ้น และสร้างความสุขบนความเท่าเทียม”
#คลองแม่ข่า
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...