02/07/2022
วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ภายในงาน KruAtive โดย UNESCO-APECIU ถูกจัดขึ้น ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมบรรยายตามคำเชิญในหัวข้อ Teachers for Ethical GCED (Global Citizenship Education) : A view from below ซึ่งได้บรรยายและนำเสนอตัวอย่างต่างๆ ในประเด็นของความเป็นพลเมือง Active ที่เป็นพื้นฐานของคนในสังคม
หนึ่งในประเด็นและตัวอย่างที่ กุลธิดา หยิบยกขึ้นบรรยายคือ คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยการใช้มาตรา 112 และ 116 การใช้พ.ร.บ.ชุมนุม และพ.ร.บ.ฉุกเฉิน ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีนับได้ถึงสองพันกว่าคน
โดยเมื่อบรรยายถึงประเด็นดังกล่าว อาจารย์ท่านหนึ่งภายในงานได้ห้ามไม่ให้วิทยากรท่านนี้บรรยายต่อ โดยอ้างว่าจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย UNESCO และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงวิดีโอคลิปที่ตนเป็นผู้บรรยาย ด้วยเหตุผลทางลิขสิทธิ์ของ UNESCO
หลังจากการสรุปการบรรยาย กุลธิดา ได้เดินออกจากงาน โดยเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานผ่านการปิดกั้นเนื้อหาที่ตนต้องการนำเสนอ และจะทำการยื่นจดหมายต่อ UNESCO-APECIU ถึงการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้จัด และรูปแบบการจัดงานที่เหมาะสมต่อไป
โดยกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ โพสต์เฟสบุ๊ค Kunthida Rungruengkiat – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ โดยมีเนื้อหาว่า
[KruAtive และพลเมืองโลกที่โดนห้ามพูด ณ ศึกษาศาสตร์ มช.]
เช้าวันนี้ จุ๊ยเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อมาพูดคุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามคำเชิญของคณะศึกษาศาสตร์ ในงาน KruAtive โดย UNESCO-APECIU จุ๊ยได้รับผิดชอบหัวข้อ Teachers for Ethical GCED (Global Citizenship Education): A view from below มีการแบ่งช่วงในการทำจัดกิจกรรมเป็นการพูดคุยและจัดกิจกรรม Workshop
ดีใจมากๆ ที่ได้มีโอกาสมาคุยกับนักศึกษาครูถึงประเด็นสำคัญอย่างการเป็นพลเมืองและการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคม และการขับเคลื่อนให้สังคมเดินไปข้างหน้า การมีพลเมืองที่ตื่นรู้ เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมกับสังคมที่ตัวเองอยู่ผ่านการตั้งคำถาม และการแสดงออกในประเด็นต่างๆ ที่ตนสนใจ เหล่านี้คือรากฐานของพลเมืองที่มีต่อสังคมทั้งที่ตนเองอยู่ และสังคมในระดับที่กว้างออกไปอย่างสังคมโลก
หลักๆ สิ่งที่จุ๊ยพยายามสื่อสารคือ การเป็นพลเมืองที่ Active คือพื้นฐานของทุกคนในสังคม และไม่ว่าจะเป็นการเมืองในสังคมของเราหรือไกลตัวไปกว่าพรมแดนประเทศนั้นล้วนส่งผลต่อพวกเราทั้งสิ้น
จุ๊ยนำเสนอกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยอย่างเช่น
– ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ถึงคำถามพ่วงต่างๆ
– รัฐบาลประยุทธ์และ การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน การผลักดันชาวพม่าที่ชายแดนกลับไปพม่าทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีการใช้การโจมตีทางอากาศ การสร้างเขื่อนในประเทศจีนที่ส่งผลถึงแม่น้ำโขงในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และคดีการเมืองต่างๆ ที่นับได้แล้วว่ามีผู้ที่ต้องคดีจากเช่น จากมาตรา 112 หรือ 116 การใช้พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงสองพันกว่าคน
เมื่อพูดถึงประเด็นคดีทางการเมือง มีอาจารย์ท่านหนึ่งขอให้จุ๊ยหยุดพูดประเด็นนี้เพราะส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ UNESCO และจุ๊ยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง VDO Clip ที่ตนเองได้บรรยาย ซึ่งผู้จัดงานบันทึกไว้ โดยแจ้งว่าเป็นลิขสิทธิ์ของ UNESCO
จุ๊ยได้สรุปจบการบรรยายของตนเอง และตัดสินใจ walk out จากงานนี้ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อวิธีการจัดการที่มีการเซนเซอร์ความเห็นของวิทยากรในประเด็นที่เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง คือการแสดงออกทางความคิด และแสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยซึ่งควรเป็นพื้นที่เปิดกว้างทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดขึ้นกับคณะที่เป็นกำลังหลักในการผลิตครู เพื่อสร้างพลเมืองให้กับสังคม ทั้งนี้จุ๊ยเข้าใจดีว่าเป็นความเห็นและการกระทำของอาจารย์คนหนึ่งในคณะนี้เท่านั้น
หลังจากนี้จุ๊ยจะยื่นหนังสือไปยัง UNESCO-APCEIU ถึงการปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ไม่อาจยอมรับได้ของผู้จัดงานท่านนี้ และเสนอรูปแบบการจัดงานที่เหมาะสมต่อไป
พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นฐานที่สุดสำหรับกระบวนการเรียนรู้ไม่ว่าจะในระดับใดทั้งสิ้น นี่จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ในสถาบันการศึกษาต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนทางวิชาการได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองให้สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยสมัยใหม่ เปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เราจะสร้างพลเมืองและสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้อย่างไร หากเรายังมีการปิดกั้น เซ็นเซอร์ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายในสังคมอยู่
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...