01/07/2022
มุ่งเน้นไปที่การตอบคำถาม และการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ 3 คน ได้แก่ ถั่วเขียว จากกลุ่มลำพูนปลดแอก ตี๋ จากกลุ่ม Nu Movement และ พรีเมียร์ รองประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ประเด็นแรกเกี่ยวกับเรื่องของแรงผลักดัน ที่ทำให้ทุกคนเข้ามาทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง แต่ละคนมีจุดและแรงจูงใจแตกต่างกันไป พรีเมียร์ เล่าว่าตนได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคณะแพทยศาสตร์ ด้วยความที่ต้องการเปิดรับความรู้ด้านสังคมและมนุษย์ศาสตร์ เพื่อหาคำตอบให้คำถามบางข้อในชีวิตที่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำได้ ที่ทำให้เริ่มศึกษาแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้ตนเริ่มเห็นความผิดปกติที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้ระบบและโครงสร้างภายในมหาวิทยาลัย ตนจึงเริ่มทำงานเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์สวัสดิการในสถานศึกษา และค่อยๆพัฒนาประเด็นมาเรื่อยๆ นับจากนั้น
ตี๋ มองว่าประเด็นนี้ เป็นผลมาจากการส่งต่อแนวคิดทางสังคมจากกลุ่มการเคลื่อนไหวยุคก่อนหน้า ทำให้ตนมีโอกาสได้เสริมสร้างแนวคิดทางสังคม และสามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ถั่วเขียว กล่าวว่า ตนได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัว ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้ง 2 ฝั่งอยู่ตลอด ทำให้ได้รับการปลูกฝังแนวคิดสังคมและการวิเคราะห์ต่างๆ มา จนเข้ามาอยู่ในช่วงมัธยม ที่ตนเริ่มทำการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธินักเรียน ก่อนจะสร้างกลุ่มนักเรียนนิรนาม เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความคิดเห็นในสถานศึกษาได้
ประเด็นต่อมาคือ รากฐานของปัญหาทางการเมืองในสังคมไทย คืออะไรกันแน่ โดย พรีเมียร์เชื่อว่า รากฐานของปัญหานั้นไม่สามารถชี้ชัดได้ เนื่องมาจากความซับซ้อนของสังคม ที่ส่งผลทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญ ไม่สามารถพูดได้ว่า ระบอบสมบูรณายาสิทธิราช หรือการผูกขาดของกลุ่มทุน เป็นรากฐานของปัญหา แต่เชื่อว่าทั้งหมดทั้งมวลเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจองค์ความรู้แขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ประเด็นต่อมาคือ ความสอดคล้องกันของแนวคิดฝ่ายซ้าย และการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ตี๋ กล่าวต่อประเด็นนี้ว่าจริงๆ แล้วฝ่ายซ้าย ไม่ได้เพิ่งกลับมามีบทบาทหรือถูกให้ความสนใจ แต่ถูกปูทางมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีบทบาทอยู่ในแวดวงวิชาการต่างประเทศอยู่แล้ว ตั้งแต่ในช่วงหลังปีค.ศ. 2008 ที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ ถูกตราหน้าว่าเป็นคนร้ายในเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งถูกกระตุ้นในไทย เนื่องมาจากการจับมือกันของรัฐและนายทุน และการเกิดขึ้นของ EEC (Eastern Economic Corridor) จนนำไปสู่การตีความว่ารัฐและทุนนั้น เป็นสิ่งเดียวกัน อีกทั้งยังมีการตีความแนวคิดของมาร์กซิสต์ขึ้นใหม่ ในแวดวงหนังสือต่างประเทศ จนหนังสือต่างๆ ในไทยยกแนวคิดดังกล่าวขึ้นมา ตนเชื่อว่าทั้งหมดถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายซ้าย ต้องกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เนื่องด้วยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกัของรัฐ และนายทุน
ถั่วเขียว กล่าวในประเด็น ความแตกต่างของการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่ตนเป็นคนที่ทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ถั่วเขียว มองว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้นเป็นพื้นที่รวมศูนย์ ต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นผลจากการกระจายอำนาจ ถั่วเขียว ยกตัวอย่างกลุ่ม “Hope at Lumphun” เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้น เพื่อการเคลื่อนไหวในประเด็นที่จังหวัดลำพูนมีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้สามารถขยายประเด็นการเคลื่อนไหวออกไปได้ในระดับพื้นที่มากขึ้น และสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ได้ เพราะทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว
ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงต่อมาคือ องค์กรสังกัดมหาลัย สภานักศึกษา หรือสโมสรนักศึกษา มีศักยภาพเพียงใด ในการร่วมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สิทธินักศึกษาในสถานศึกษา หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกสำหรับนักศึกษา
พรีเมียร์ เชื่อว่ากลุ่มองค์กรดังกล่าว มีศักยภาพ และอำนาจโดยชอบธรรมมากพอ แต่สิ่งที่ต้องหารือกันต่อไปก็คือ สิ่งที่คอยกดทับศักยภาพ และอำนาจดังกล่าวไว้ คืออะไรกันแน่ โดย พรีเมียร์ ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา และได้ยกอุปสรรคดังกล่าวออกมา 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. โครงสร้างแบบราชการของมหาวิทยาลัย ที่เอื้อให้มหาวิทยาลัยสามารถใช้รูปแบบทางโครงสร้างเพื่อกดทับอำนาจโดยชอบธรรมของกลุ่มองค์กรสังกัดมหาวิทยาลัย
2. งบประมาณและการจัดการ ที่ไม่มีความโปร่งใส
3. ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ยังยึดมั่นในการจัดกิจกรรมที่ดูเหมือนกับเป็นการส่งเสริมระบอบศักดินา เพื่อกดขี่นักเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่นการใช้การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 เพื่อห้ามไม่ให้นักศึกษาสามารถทำกิจกรรมชมรม ซึ่งสนับสนุนการแสดงออกทางความคิดได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นที่จะจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆเช่นการไหว้ครู หรือการวิ่งขึ้นดอย เป็นต้น
4. ความลักลั่นของระบบองค์การนักศึกษา ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายใน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารอำนาจของสโมสรนักศึกษา ความไม่เอื้อให้องค์การนักศึกษามีความถ่วงดุลกันอย่างชัดเจน และการกีดกันนักศึกษาออกจากการตรวจสอบมหาวิทยาลัย
พรีเมียร์ สรุปว่าอุปสรรคทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากการที่สภามหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้โครงสร้างที่มีความเป็นอำนาจนิยม ซึ่งขึ้นตรงกับความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์
ในส่วนสุดท้าย ทั้ง 3 คนผลัดกันพูดถึงประเด็น ความคาดหวังต่อขบวนการเคลื่อนไหว และความคาดหวังต่อพรรคการเมืองในระบบสภา
ตี๋ มองว่าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยตนคาดหวังว่าขบวนการเคลื่อนไหว จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ในพื้นที่และจัดการได้อย่างเท่าเทียม โดย ตี๋ เสริมว่าสังคมไทยมีปัญหาในประเด็นการมองคนไม่เท่าเทียมกัน และการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของหน้าที่มาก่อนสิทธิ ตนจึงคาดหวังให้ขบวนการเคลื่อนไหวสามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้ ในสังคมที่พวกเราสร้างกันขึ้นมาเอง
ถั่วเขียว พูดถึงความหวังของตนต่อพรรคการเมือง โดยเธอตั้งคำถามต่อพรรคการเมือง ว่าพรรคการเมืองจะเห็นค่าเสียงของประชาชน สูงพอให้ไม่ทำเพื่อตัวเอง แต่หันมาทำเพื่อประชาชนได้หรือไม่ ละยังพูดต่อในส่วนของความคาดหวังต่อขบวนการเคลื่อนไหว โดยเธอหวังว่าทุกคนที่ร่วมเคลื่อนไหว จะช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้มีใครต้องหลุดจากขบวนไป
สุดท้าย พรีเมียร์ พูดถึงระบบการเมืองที่เป็นทางการ โดย พรีเมียร์ เชื่อว่าก่อนที่จะคาดหวังจากระบบต่างๆได้นั้น ต้องทำความเข้าใจ และยอมรับเสียก่อน ว่าในปัจจุบันนั้น ระบบต่างๆมีความย้อนแย้ง และเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเพียงใด ระบบการเมืองในปัจจุบันที่กลายเป็นเครื่องมือ สำหรับการสร้างความชอบธรรมให้กับคนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งตัว พรีเมียร์ เสนอว่าสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ “เชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ”
ภาพ: ศรีลา ชนะชัย
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...