เสวนา “เชียงใหม่จัดการตนเอง ถอดบทเรียนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ”​

30/06/2022

การเสวนาเริ่มต้นโดยอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง เริ่มต้นกล่าวถึงการถอดบทเรียนผู้ว่าเป็นอันดับแรก โดยกล่าวถึงแนวคิดการยุบภูมิภาค ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกกล่าวโดยนักวิชาการอีก 2 ท่านที่อาจารย์ธธเนศวร์ ไม่ได้เอ่ยชื่อ โดยอาจารย์ธเนศวร์ เลือกที่จะมองแนวคิดนี้ในมุมมองวิชาการ โดยย้อนไปตั้งแต่การมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2441 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยแนวคิดที่จะให้คนหนึ่งคนขึ้นมาดูแลจัดการเมืองหรือจังหวัดต่างๆของประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกว่า “ข้าหลวง” หรือ “สมุหเทศาพิบาล” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัดในปีพ.ศ. 2476 ที่เป็นเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลาง มาทำหน้าที่ดูแลปกครองท้องถิ่น อาจารย์ธเนศวร์ กล่าวในฐานะทั้งที่เป็นนักวิชาการและนักต่อสู้ ต้องการจะเปลี่ยนกรอบความคิดนี้เสียใหม่ โดยเห็นด้วยกับที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวไว้ ว่าผู้ว่าฯ คือคนที่มาทำงานกินเงินเดือนประชาชน ต้องเข้าใจประชาชน ถือว่ามติของประชาชนเป็นคำสั่ง ที่ตนต้องรับไปปฏิบัติต่อไป โดยสิ่งที่อาจารย์ธเนศวร์ ต้องการจะเปลี่ยน ก็คือการที่ผู้ว่าฯนั้น ต้องเป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่การแต่งตั้งจากส่วนกลาง ซึ่งประชาชนจะมีอำนาจในการตัดสินได้ว่า เป็นผู้ว่าฯที่มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ และสามารถยุติบทบาทผู้ว่าฯ ได้​

อาจารย์ธเนศวร์ ยังกล่าวเสริมถึงแนวคิดการยุบภูมิภาค ซึ่งหมายถึงการลบตัวตนของผู้ว่าฯออกไป โดยมีเหตุผลว่าเป็นตำแหน่งที่ทับซ้อนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยอาจารย์ธเนศวร์ กล่าวถึงนายกอบจ. ว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายประชาชน แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายนัก เพราะผู้ว่าฯ ก็ยังเป็นผู้ควบคุมโครงการต่างๆอยู่ ซึ่งอาจารย์ธเนศวร์ กล่าวว่าตนอยากจะเห็นนายกอบจ.ที่มีอำนาจ มีความเข้มแข็งในระดับเดียวกับผู้ว่าฯ โดยอาจารย์ธเนศวร์ เชื่อว่าไม่สามารถได้มาโดยง่าย แต่จะได้มาจากการร่วมต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องประชาชน​

โดยอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เสวนาในประเด็นการวิวัฒของแนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเอง โดยย้อนกลับไปที่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดง และเสื้อเหลืองในช่วงปีพ.ศ. 2552 ในปีเดียวกันนั้น มีการจัดประชุมหอการค้าขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจะเดินทางมาเป็นประธานเปิดพิธี ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ช่วงนั้นหยุดชะงัก ขาดนักท่องเที่ยว เกิดการชะลอการลงทุน ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคนในพื้นที่เอง จนนำไปสู่การหารือกันของกลุ่มต่างๆในเชียงใหม่ ก่อนจะลงความเห็นว่าการแก้ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สามารถทำได้ด้วยการมีผู้บริหารสูงสุดเป็นของตัวเองซึ่งมาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การยกร่างพรบ.ระเบียบราชการเชียงใหม่มหานคร ซึ่งพัฒนากลายเป็นพรบ.จังหวัดปกครองตนเอง มีหลักการใหญ่ๆ คือ ​

1) เป็นท้องถิ่นเต็มจังหวัด ไม่มีภูมิภาค และผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี​
2) ต้องมีสภาพลเมือง ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษา​
3) เพิ่มรายได้ท้องถิ่น โดยแบ่งรายได้ 70% ของที่ท้องถิ่นเก็บได้ กลับคืนสู่ท้องถิ่น​
อาจารย์ชำนาญเชื่อว่า ในช่วงนั้นที่พรบ.จังหวัดจัดการตนเองเข้าสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายกลางในชื่อ “พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง” ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 จังหวัดเชียงใหม่คงได้เลือกตั้งผู้ว่าฯไปแล้ว อาจารย์ชำนาญกล่าวเสริมต่อ หลังจากที่ตนได้เข้ารับตำแหน่งสส. ก็ได้ยกร่างพรบ.เชียงใหม่จัดการตนเองขึ้นมาใหม่ในฐานะรายงานการศึกษา และยื่นเข้าสู่สภาต่อไป​

อาจารย์ไพรัช ใหม่ชมพู พูดถึง 2 ประเด็นได้แก่ “รากเหง้าของการเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ” และ “เรื่องที่กระทำไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา” โดยรากเหง้าของการเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ มาจากการที่ตัวจังหวัดนั้น ไม่มีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ มีความต้องการอำนาจในการบริหารเมือง และงบประมาณในพื้นที่ที่ต้องเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ถูกประชาชนเลือกผ่านการเลือกตั้ง เข้ามาบริหารอำนาจดังกล่าว อาจารย์ไพรัชกล่าวเสริมโดยยกปัญหาที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ที่ถึงแม้จะรับรู้โดยผู้ว่าฯจังหวัด แต่ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้ เพราะอำนาจทั้งหมดนั้นอยู่กับส่วนกลาง ที่อยู่ห่างไกลไปจากพื้นที่ที่เกิดปัญหา ในส่วนของสิ่งที่เชียงใหม่ได้กระทำไปแล้วในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจารย์ไพรัช กล่าวไว้ว่า ได้มีการเรียกร้องในนามเชียงใหม่จัดการตนเอง ไปในปีพ.ศ. 2552 – 2556 เมื่อเวลาดำเนินมาถึงช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ทำให้เห็นว่าสื่อทุกสำนัก เสนอข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร จึงเกิดการหารือร่วมกับเครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ และแบ่งงานออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะสั้น ที่จัดงานจำลองการเลือกตั้งผู้ว่าฯขึ้น ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่กรุงเทพมหานคร และระยะยาว ที่ยังต้องประชุมหารือกันต่อไป​

การเสวนาดำเนินต่อในประเด็น “การทำให้กระบวนการขับเคลื่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯให้สำเร็จ ควรทำอย่างไร”​

อาจารย์ธเนศวร์ กล่าวเปิด ยังไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ ที่ประชาธิปไตยท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนประชาธิปไตยระดับประเทศ ในกรณีของประเทศไทย อาจารย์ธเนศวร์ เสนอว่าการเคลื่อนไหวต้องดำเนินควบคู่กันไปทั้งในระดับประเทศ และท้องถิ่น สอบถามความชัดเจนกับพรรคการเมือง ทำความเข้าใจในการปกครองท้องถิ่น ​

อาจารย์ชำนาญ แบ่งประเด็นดังกล่าวออกเป็น 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ประเด็นทางกฎหมาย และประเด็นทางการเงิน โดยอาจารย์ชำนาญ ให้คำอธิบายไว้ ว่าแต่ละกระทรวงในประเทศไทยนั้น มีตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขในระดับรัฐธรรมนูญในเรื่องของการปกครองท้องถิ่น กำหนดอำนาจ และข้อจำกัดของท้องถิ่นให้ชัดเจน และในส่วนของการเงิน ที่ต้องมีการเพิ่มอัตราส่วนงบประมาณที่ได้จากรัฐ และลดอัตราส่วนงบประมาณที่ท้องถิ่นรวบรวมได้ให้รัฐ เพื่อนำมาจัดการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป ​ ​

อาจารย์ไพรัช แบ่งประเด็นดังกล่าวออกเป็น 2 ประเด็นย่อยเช่นกัน แต่จะเป็นส่วนของ การทำความเข้าใจกับคนเชียงใหม่ และงบประมาณที่จะขับเคลื่อน โดยเสริมว่าการกระจายอำนาจ และงบประมาณลงในพื้นที่ จะทำให้ไม่เกิดการปฏิวัติอย่างแน่นอน​

เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ “เชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ”​

ภาพ: ศรีลา ชนะชัย​

#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง