26/06/2022
เสวนาบอกเล่าถึงการปฏิบัติงานของขบวนการนักศึกษาที่ขยายขอบเขตออกไปมีส่วนร่วมกับ ชาวนา ครู และนักเรียน โดย เกรียงภพ หน่อรัตน์ : นักศึกษามหาวิทยาลัยครู ,สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์ : ตัวแทนศูนย์นักเรียน ,สมนึก แพ่งนคร : เล่าเรื่องโครงการชาวนา ,สงวน พงษ์มณี : ประชาบาลเพื่อประชาชน ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ : กลุ่มมังกรน้อย
การเสวนาเริ่มต้นโดย สงวน พงษ์มณี โดยเริ่มต้นกล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างตน และกลุ่มประชาบาลเพื่อประชาชน โดยกล่าวถึง นิสิต จิรโสภณ ในแง่ของการ “เพิ่มความเคียดแค้น” ให้กับตน เนื่องมาจากตัว นิสิต จิรโสภณ เองนั้นเป็นเพื่อนกับ ชัชวาลย์ นิลประยูร ซึ่งเป็นประธานของกลุ่ม ณ เวลานั้น และยังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการจัดตั้งของตน หลังจากกลับมาจากการเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างเขตจัดตั้งต่างๆ ที่ไม่เคยพบหรือรู้จักกับ สงวน จากนั้น สงวน เล่าต่อถึงการเข้าร่วมกับกลุ่มชาวนาระหว่างการเคลื่อนไหว โดยเสริมว่าตนนั้นเป็นน้องของ บุญมา อาลี ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้นำชาวนา
สงวน บอกเล่าต่อเกี่ยวกับการจัดตั้งและเข้าป่าในช่วงแรก ว่ากลุ่มตนนั้นไม่ได้มีบทบาทอะไรมากในพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องมาด้วยอายุ และความที่ผู้คนส่วนใหญ่นั้นไม่รู้จักพวกเขา นอกเสียจากบทบาท “กองกำลังรักษาชีวิต” ที่ สงวน ยกขึ้นมากล่าว โดยตนต้องเดินทางเข้ารับการฝึกใน “ซีเหมา” ภายใต้ชื่อกลุ่มที่พวกตนเรียกว่า “หน่วยมีดปลายแหลม” เพื่อกลับมารับหน้าที่คุ้มครองสหายทุกคน
สุดท้าย สงวน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวโดยรวมในตอนนั้นว่า ตนไม่รู้สึกได้รับชัยชนะใดๆ เนื่องมาจากที่พวกเขาภูมิใจในการต่อสู้ และชัยชนะ แต่ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในผลสัมฤทธิ์ของตัวงาน
สงวน ทิ้งท้ายการเสวนาของส่วนของตนด้วยคำกล่าวว่า “สังคมจะเป็นของเด็กๆ” ที่จะเป็นอย่างไรนั้น อุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่ทำให้แสดงออกมานั่นเอง
การเสวนาดำเนินต่อ โดยต่อไปเป็นการกล่าวของ เกรียงภพ หน่อรัตน์ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยครู เกรียงภพ เริ่มการเสวนาโดยการกล่าวถึงประสบการณ์ที่ตนได้รู้จักกับ นิสิต จิรโสภณ เป็นครั้งแรกผ่านหนังสือวลัญชทัศน์ ที่มีเพื่อนนำมาให้อ่านในยุคที่มหาวิทยาลัยครูยังเป็นสถาบันอนุรักษ์นิยม โดยจุดเริ่มต้นแรกสุดของการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยครู มาจากการรวมกลุ่มอิสระชนในหัวข้อเชิงธรรมชาติ และกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานในห้องสมุด โดยมีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นจุดเริ่มต้นความตื่นตัวทางการเมือง และมีการร่วมกันเคลื่อนไหวกับกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
เกรียงภพ กล่าวเพิ่มเกี่ยวกับสถานะภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยครู หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็ได้มีการรวมกลุ่มเกิดขึ้นอีกครั้งในมหาวิทยาลัยครู ซึ่งบางส่วนก็มาจากกลุ่มนักศึกษาที่รวมกลุ่มกันในหัวข้อทางธรรมชาติเช่นกัน โดยการรวมกลุ่มกันครั้งนี้จะเริ่มมีการนำหัวข้อทางการเมืองต่างๆมาร่วมพูดคุยกันในกลุ่มอีกด้วย จนภายหลังได้รับการประสานงานจากทางกลุ่มของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกรียงภพ ยังกล่าวเสริมถึงการต่อสู้ภายในมหาวิทยาลัยครู โดยมีการต่อสู้กันกับกลุ่มที่ขัดขวางกลุ่มของตนเช่น กลุ่มคนป่า กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล เป็นต้น จนกระทั่งกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นผ่านการจัดกิจกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตยในพื้นที่ชนบท ระหว่างช่วงปิดเทอม โดยกลุ่มนักศึกษา ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีพ.ศ. 2517 และยังมีการจัดตั้งกลุ่มภายใน ในชื่อ “กลุ่ม 17” และกลุ่ม “อิสระชน” ที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาภาคค่ำอีกด้วย
เกรียงภพ ยังกล่าวถึงการก่อตั้งขบวนการชาวนาที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยครูได้เข้าไปมีส่วนร่วมการขบวนการด้วย จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และนำไปสู่การแยกย้ายของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในที่สุด
สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์ ตัวแทนศูนย์นักเรียน เป็นผู้ดำเนินการเสวนาคนถัดมา สุทธิศักดิ์ กล่าวถึงผลกระทบและกระแส จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่กระจายไปสู่กลุ่มศูนย์นักเรียน จนมีส่วนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆในหลากหลายพื้นที่ และกิจกรรมค่ายส่งเสริมประชาธิปไตย “หนองกระทิง” โดย สุทธิศักดิ์ ได้มีโอกาสรู้จักกับศูนย์นักเรียนจากกิจกรรมนี้ จนนำไปสู่การเผยแพร่ประชาธิปไตยจากชุดแนวคิดที่ได้รับมาจากกิจกรรมค่ายประชาธิปไตยดังกล่าว
สุทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มถึงความดีงามของช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งศูนย์นักเรียน ว่าในขณะนั้นสถาบันต่างๆเริ่มมีการเกิดขึ้นของกลุ่มสภานักเรียนขึ้นมาแล้ว ส่งผลให้การประสานงานการประชุมต่างๆเป็นไปได้โดยง่าย และช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังกล่าวถึงบทบาทของศูนย์นักเรียน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การลงพื้นที่ทำงานกับชาวนามากนัก แต่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีสมาชิกศูนย์นักเรียนจากพื้นที่ต่างๆเข้ามารับการศึกษาต่อในคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เยอะ ด้วยจำนวนสมาชิกศูนย์นักเรียนที่มีอยู่ในหลากหลายคณะนี้เอง ที่เป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวให้มีความกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2519 ด้วยความที่สามารถกำหนดรูปแบบ ทิศทาง หรือช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวได้โดยไม่มีปัจจัยอื่นมาส่งผลกระทบ เช่นตารางการเรียนการสอนเป็นต้น เนื่องด้วยจำนวนคนที่มากนั่นเอง สุทธิศักดิ์กล่าวปิดท้ายในส่วนของตน ด้วยการกล่าวถึงการ “เชิดชูจิตใจ” ที่ไม่ใช่เพียงแต่การเชิดชูจิตใจของ นิสิต จิรโสภณ เท่านั้น แต่ตนยังเชิดชูจิตใจของทุกๆคน ที่ร่วมต่อสู้ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ชนชั้นที่ไม่มีอะไรให้เสีย แต่เป็นการร่วมต่อสู้ที่พร้อมจะเสียสละ
ต่อไปเป็นการเสวนาของ สมนึก แพ่งนคร ที่ออกมาบอกเล่าถึงการทำงานของโครงการชาวนา สมนึก เล่าย้อนไปในสมัยที่ตนยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เสาะหาความหมายในชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนเข้าไปพบกับจุดพลิกผันจากการพบกับศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่มีชาวนา และกรรมกรต่างๆเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์นิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ นำไปสู่การลงพื้นที่ของ สมนึก ที่ทำให้เห็นถึงปัญหาต่างๆในการใช้ชีวิตของชาวนา และทำให้มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบได้ชัดเจนมากขึ้น สมนึก เริ่มศึกษากฎหมายค่าเช่านาหลังจากนั้น โดยการเริ่มศึกษากฎหมายดังกล่าวครั้งแรกนั้น นำ สมนึก ไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเข้าพบกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น ก่อนจะถูกข้อร้องให้กลับไปเรียนหนังสือตามปกติดังเดิมหลังจากที่ได้แสดงเจตนาและความสนใจในปัญหาชาวนาแก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ตาม สมนึก กล่าวว่าตนก็ยังไม่หยุดแค่นั้น สมนึก มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆในรั้วมหาวิทยาลัย และยังดำเนินการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ชาวนาเกี่ยวกับกฎหมายค่าเช่านาต่อไป จนกระทั่งศูนย์นิสิตนักศึกษาได้ริเริ่มโครงการชาวนาขึ้น โดย สมนึก ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องมาจากที่ตนสามารถใช้ภาษาท้องถิ่นได้ และยังมีเวลาสำหรับการเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านในระหว่างโครงการ ซึ่งได้เวลาดังกล่าวมาจากการที่ตนพักการศึกษาในมหาวิทยาลัยเอาไว้ในช่วงเทอมแรกของปี 1 และอุทิศตนเข้าช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการดังกล่าว จนกระทั่งช่วงปลายปีพ.ศ. 2517 ก็มีการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่เอง
จีรวรรณ โสดาวัฒน์ ขึ้นเสวนาต่อ โดยได้กล่าวย้อนกลับไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ตอนนั้นตนมีอายุแค่เพียง 14 ปี แต่เนื่องด้วยมาจากที่ตนเป็นลูกหลานชาวนา ที่ตนเรียกว่าเป็น “ชาวนาจน” ที่ถูกกดขี่เอาเปรียบในหลากหลายด้าน ทำให้ตนมองเห็นผลกระทบและซึมซับปัญหาของชาวไร่ชาวนาจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ชัดเจน จีรวรรณ กล่าวถึง นิสิต จิรโสภณ ว่าเป็นตัวแทนนักศึกษาที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคมชาวไร่ชาวนา หรือแม้แต่สังคมในองค์รวม โดย จีรวรรณ ได้พบเจอกับ สมนึก แพ่งนคร จากการลงพื้นที่เผยแพร่ประชาธิปไตยหลังจากนั้น และได้ซึมซับองค์ความรู้และแนวคิดต่างๆจากกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ชนบทในช่วงนั้น และได้มีส่วนช่วยขยายองค์ความรู้ในหัวข้อต่างๆไปสู่ชุมชน เช่นเรื่องของกฎหมาย หรือการปกครอง ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ชาวไร่ชาวนารับรู้ในยุคสมัยนั้น นำไปสู่การสังเกตุการณ์การจัดเสวนาในชุมชนที่ร่วมจัดโดยกลุ่มนักศึกษา ทำให้ จีรวรรณ ได้เริ่มฝึกการพูด การคิด การวิเคราะห์ ในการจัดเสวนา หรือแวดวงศิลปะการดนตรี
จีรวรรณ ค่อยๆ ซึมซับแนวคิดของกลุ่มนักศึกษาผ่านกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ในขณะนั้น ตนได้ประจำอยู่ในกลุ่มบ้านแสงตะวัน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์การเข้าป่าของกลุ่มสหาย
จีรวรรณ กล่าวว่าตนได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นผ่านเบ้าหลอมต่างๆ ยาวนานไปถึงการออกจากป่ามาใช้ชีวิตอีกครั้ง ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ดูแลสังคม ตามสิ่งที่ตนได้รับการปลูกฝังโดยเบ้าหลอมดังกล่าว โดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นต้นแบบ จีรวรรณ ทิ้งท้ายการเสวนาในส่วนของตนด้วยการกล่าวถึงบทบาทของตน ที่เป็นผู้ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ในการออกมากำหนดอนาคตของตัวเอง
ชาตรี หุตานุวัตร กล่าวสรุปการเสวนาไว้ว่า นิสิต จิรโสภณ นั้นเป็นผู้นำนักเรียนและชาวนาในภาคเหนือ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในยุคสมัยนั้น นำไปสู่การเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ของขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการณ์เมือง การเผยแพร่ประชาธิปไตย และเป็นช่วงที่ขบวนการณ์นักศึกษามีเกียรติภูมิสูงสุด พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ว่าไม่ได้ต่อสู้เพื่อแนวคิดหรือพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต้องการสู้เพื่อประชาธิปไตยและการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคมเสียใหม่ให้มีความเป็นธรรม โดยถึงแม้ว่าจะทำไม่สำเร็จ และพวกตนไม่ได้ต่อสู้เป็นขบวนการแบบเดิมแล้ว แต่พวกตนก็ยังสามารถเป็นคนดีของสังคม และส่งต่อเมล็ดพันธุ์ของอุดมการณ์ให้คนรุ่นใหม่ๆต่อไปได้
การเสวนาในช่วงนี้ ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านจะยังกระทำทุกอย่างเหมือนเดิมหรือไม่” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านตอบคำถามดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะยังกระทำการทุกอย่างเช่นเดิม
เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ “เชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ”
ภาพ: ศรีลา ชนะชัย
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...