ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองเดินหน้าผลักดันกฎหมายต่อเนื่องหวังสร้างความเปลี่ยนแปลง เตรียมดัน ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าฯ ให้ผ่านสภา​

24/06/2022

วันที่ (23 มิถุนายน 2565 ) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. ตัวแทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองได้เข้าพบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนาย ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ และนายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ เปิดห้องรับรอง เพื่อทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากการที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์เตรียมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. ในสภาผู้แทนราษฎร ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ​

นายพิธา กล่าวว่า พันธกิจของพรรคก้าวไกลคือการโอบรับความหลากหลายและพยายามเข้าไปดูแลด้านงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาติพันธุ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ในรอบเดือนที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลสามารถผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนให้ผ่านวาระแรกได้สำเร็จในรอบเดือนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียม​

“แม้กฎหมายทั้งสองฉบับจะไม่เกี่ยวข้องต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง แต่เชื่อว่าการผลักดันกฎหมายเหล่านี้จะช่วยปลดล็อกด้านเศรษฐกิจสังคม และเปิดโอกาสให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยสามารถต่อยอดจากศักยภาพและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การใช้พืชพื้นถิ่นเพื่อผลิตสุราที่สามารถยกระดับและเป็นโอกาสในการทำกินได้ นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังมีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องการทำให้สำเร็จอีกหลายประการ ไม่ว่าเรื่องปัญหาสัญชาติ ที่ดินทำกิน การศึกษา และสาธารณสุขให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ ส่วน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ก็จะต้องผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งเร็วๆนี้จะเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากได้รับเชิญให้ไปร่วมงานด้านชาติพันธุ์หวังว่าจะได้แนวทางในการสนับสนุนเพื่อพี่น้องชาติพันธ์ในระดับต่อไป”​

ขณะที่สส.มานพ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายในลักษณะคล้ายคลึงกันในสภาอยู่หลายร่างในสภาซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย โดย 3 ร่างอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภาตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่าจะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีส่วนร่วมของประชาชนมาช่วยกันร่างและผลักดันเข้าสู่สภา ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรก็หวังว่าทุกฝ่ายจะพยายามรักษาและผลักดันให้เกิดสภาชนเผ่าขึ้นให้ได้​

ด้านนายยงยุทธ สืบทายาท คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นคนกลุ่มเล็กในสังคม แต่ในอดีตที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียสิทธิและผลประโยชน์หลายอย่าง จึงหวังให้สามารถผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้สำเร็จ เพื่อเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาติพันธุ์ พร้อมทั้งโอบรับความหลากหลายที่มีในประเทศนี้ให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน​

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … เป็นกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะในปัจจุบันกฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐยังไม่มีการส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในสภาวะสูญเสียอัตลักษณ์และไม่ถูกโอบรับในสังคมเนื่องจากการถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างกลไกให้สนับสนุนให้มีองค์กรและเครือข่ายเพื่อออกแบบและทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีส่วนร่วมในสังคม​

ต่อมาเวลา 14.00 น. ได้พบพรรคประชาธิปัตย์ ณ ห้องรับรองของพรรคพรรคประชาธิปัตย์ อาคารรัฐสภา เนื่องจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หัวหน้าพรรค (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) ติดภาระกิจไม่สามารถเข้าร่วมได้จึงได้มอบหมายให้นายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นผู้แทนมาต้อนรับตัวแทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมือง​

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กล่าวว่า อยากฝากว่าจะต้องมีการพูดคุยกันให้เป็นเอกภาพและต้องดูให้ดีว่ากฎหมายที่จะออกมาจะคุ้มครอง ให้เราทำอะไรได้ตามที่เราต้องการ และเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ของคนชนเผ่าฯ และทุกชนเผ่าฯที่ยกมาทั้งหมดนี้ด้วยซึ่ง อย่าให้เหมือนกฎหมาย NGOs เนื่องจากตอนแรกผู้ใหญ่จากทาง NGOs อยากได้กฎหมายที่ออกมาคุ้มครอง NGOs ซึ่งที่จริงเป็นธรรมชาติที่ NGOs ออกมารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลายและไม่เหมือนกัน ท่านอภิสิทธิ์กล่าวว่าตอนนี้ไม่เป็นอิสระจริงหรือไม่ หรือมีความเห็นต่างกันเอง ถ้ารวมกันแล้วออกกฎหมายมาให้มีสำนักงานหนึ่งขึ้นมาดูแล ระวังคุณจะถูกควบคุม ปัจจุบันก็มีปัญหาขึ้นมาจริงๆ​

ด้านนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กล่าวเสริมว่า การเสนอกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองนั้นจะศึกษากันต่อ และช่วยดูให้เต็มที่อย่างที่ท่านรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ได้กล่าวไว้บางทีอาจมีบางจุดที่เป็นเรื่องสำคัญบางทีที่อาจมองไม่เห็น พอเริ่มทำไปก็อาจมีปัญหาค่อนข้างมากเพราะปัญหาของชนเผ่ามีไม่เท่ากันบางทีก็เยอะ บางทีก็น้อย ซึ่งไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้ามีสภาขึ้นมาปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่มีเราจะทำได้อยู่หรือไม่ลองไปศึกษาให้ดีเมื่อเวลาเข้ามาเสนอสู่สภาต้องมีคำอธิบายที่ทุกคนสามารถเข้าใจกันได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกีดกันแต่ต้องเข้าใจด้วยเหตุด้วยผล และกล่าวต่ออีกว่า พวกผมไม่มีปัญหาจะช่วยกันดูเต็มที่อะไรที่จะสามารถทำกันได้ ซึ่งอยากให้กำลังใจและอยากให้ทุกคนช่วยกันดูและศึกษากันต่อไป​

ต่อมานายนราพัฒน์ แก้วทอง ได้กล่าวสรุปว่า พรรคประชาธิปัตย์ช่วยกันดูมาตั้งแต่อดีตแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยท่านอภิสิทธิ์ได้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ฟื้นฟูวิถีชีวิตพี่น้องกะเหรี่ยง และได้ออกระเบียบต่างๆ ส่วนในเรื่องที่เสนอ ร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ… ทางพรรคไม่ได้ติดใจพร้อมเดินหน้าสนับสนุน แต่ในส่วนรายละเอียดจะต้องเข้ามาพูดกันอีกที และเชื่อว่าถ้าเข้าสภา ทางสภาคงจะรับหลักการและเข้าไปว่าในวาระที่ 2 ถึงรายละเอียด ส่วนในกรณีฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ต้องไปผ่านความเห็นชอบของ ครม.ก่อนนั้น ทางพรรคจะนำเสนอให้ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นำเสนอร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงินออกมาพิจารณาร่วมกัน จะได้มีรายละเอียดที่มากขึ้น ทั้งในแง่งบประมาณหรือแม้กระทั่งสิทธิที่ควรจะได้รับ ดังนั้นจะต้องมีกฎหมายที่จะต้องเข้ามารับรองสิทธิเหล่านั้น และกล่าวปิดท้ายว่าในเรื่อง พรบ.ฉบับนี้ทางพรรคไม่ได้มีปัญหา ในส่วนที่อยู่ใน ครม. ที่จะต้องยื่นประกอบทางพรรคจะยื่นต่อท่านจุรินทร์ เผื่อจะออกมาประกบให้ได้ และยินดีให้ความร่วมมือ​



#ชนเผ่าพื้นเมือง​
#ชาติพันธุ์ก็คือคน​
#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง