ประวัติศาสตร์ประชาชน: 21 มิถุนายน 2533 ครอบรอบ 32 ปี การจากไปของครูองุ่น มาลิก ครูผู้อุทิศตนเพื่อสังคม ผู้ส่งผ่านอุดมการณ์บริสุทธิ์ไม่รู้ลืม​

21/06/2022

วันนี้ 22 มิถุนายน 2565 เป็นวันครบรอบ 32 ปี ที่ครูองุ่น มาลิก จากไป ถ้าจะอธิบายถึงคุณค่า ความงามในช่วงชีวิตครูองุ่น คงต้องใช้เวลายืดยาวกว่าจะเรียงร้อยถึงทุกคุณค่าได้ Lanner ขอหยิบยกส่วนหนึ่งของช่วงชีวิตครูองุ่นมาพูดถึง “ประวัติศาสตร์ประชาชน”​

ครูองุ่น มาลิก เกิดที่ตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต พระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2460 มีชื่อเล่นว่า “แม่หนู” ชีวิตวัยเด็กของครูเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ครูองุ่น มีอายุได้ 15 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองในห้วงเวลานั้น ได้สร้างความตื่นตัวทางความคิดเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แก่ครูองุ่นเป็นอย่างมาก ครูองุ่นศรัทธาในอุดมการณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างมาก ครูองุ่นจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานที่โรงพิมพ์ปรุงนุกูลกิจ ก่อนที่ในปี 2505 ครูองุ่นได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อ และปี 2507 เธอจบการศึกษาปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ที่เออร์บานา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ประเทศสหรัฐอเมริกา​

ปี 2507 – 2509 ครูองุ่นตัดสินใจเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และตัดสินใจอีกครั้ง ในการมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2510 ครูองุ่นมักปรากฏตัวในงานกิจกรรมนักศึกษาอยู่เสมอ ทั้งกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมละครและกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ เรียกได้ว่านักศึกษามช. ที่ทำกิจกรรมในยุคสมัยนั้นต่างเคารพนับถือครูองุ่น และครูองุ่นเองก็มักจะพูดคุยกับเหล่านักศึกษาอย่างกัลยาณมิตร ไม่ถือตัว ทั้งตัวครูองุ่นเองก็ยังชอบใส่เสื้อผ้าที่เย็บเองกับมือ สะพายย่าม นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก ดูเหมือนชาวบ้านทั่วไปมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย​

ในปี 2513 ครูองุ่น ได้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่นาร้างจากคนในชุมชนป่าห้าด้านทิศตะวันตกติดกับลำน้ำห้วยแก้ว สร้างบ้านริมน้ำข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งชื่อว่า “สวนอัญญา” มาจาก “อัญญาโกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ครูองุ่นได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางความคิด ใช้บ้านสวนอัญญาให้นักศึกษาใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาสามารถมาใช้พักพิงได้อีกด้วย​

ปี 2516 ครูองุ่น ร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง “หกฉากจากชนบท” กำกับการแสดงโดย คำรณ คุณะดิลก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ละครเรื่องหกฉากจากชนบท ของชุมนุมศิลปะการละครมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการแสดงขึ้น สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก จึงได้นำมาเปิดแสดงบนเวทีหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 – 13 สิงหาคม 2516 ละครเน้นให้เห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ ในชนบทในยุคสมัยนั้น ก่อนที่ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองถูกตัดตอน นักศึกษาหลายคนต้องหลบหนีเข้าป่า ครูองุ่นเองก็ถูกจับควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักงานสันติบาล เชียงใหม่) ควบคุมตัวไปกักกันเพื่ออบรมความประพฤติ และนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ครูองุ่นเริ่มที่จะพัฒนาละครหุ่นมือ ถักทอด้วยตนเอง ออกแสดงตามที่ต่าง ๆ หุ่นมือนับหมื่นได้กระจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน ผ่านทางองค์กรการกุศลทั่วโลก ครูองุ่นเล็งเห็นว่าละครหุ่นมือ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์​

ปี 2521 ครูองุ่นเกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เธอกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และอุทิศตนให้กับการทำหุ่นมือเพื่อส่งต่อให้เด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง และด้วยความศรัทธาในอุดมการณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นเหตุผลให้ วันที่ 12 กันยายน 2526 ครูองุ่น ยกที่ดิน 371 ตารางวา ให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ใช้เป็นที่ปลูกสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อสืบสานความคิดอุดมการณ์เพื่อสังคมสืบต่อไป​
ครูองุ่น มาลิก จากไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 แต่คุณงามความดีต่อสังคมของครูองุ่นยังคงดำรงอยู่ มูลนิธิไชยวนา ก่อกำเนิดขึ้นโดย แรงศรัทธาของครูองุ่น มุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาเรื่องการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และความรู้ด้านอนามัยสาธารณสุขต่อประชาชน โดยสวนอัญญาที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ในการสนับกิจกรรมทางสังคมต่อไปโดยใช้ชื่อว่า สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาเท่านั้น คุณงามความดีของครูองุ่น ยังมีอีกมากและส่งผ่านอุดมการณ์บริสุทธิ์ไม่รู้ลืม​

อ้างอิงจากบทความ: ครูองุ่น มาลิก : รำลึก 30 ปีที่จากไป เขียนและเรียบเรียง โดย นลธวัช มะชัย​

#ประวัติศาสตร์ประชาชน​
#Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง