14/06/2022
ภาคีเซฟบางกลอยจัดกิจกรรมวาระ 8 ปีนโยบายทวงคืนผืนป่า ชี้คนเมืองไม่ได้ป่า มีแต่คราบน้ำตาประชาชน ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ชู 4 ข้อเรียกร้องปลดแอกมรดก คสช. จากการจัดการป่าไม้-ที่ดิน
14 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มภาคีเซฟบางกลอยจัดกิจกรรม “8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ” ณ สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เนื่องในวาระครบรอบคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยชี้ว่าภายหลังมีนโยบายนี้มีคดีความเกิดขึ้นกว่า 46,000 คดี ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน พร้อมชวนคนเมืองตั้งคำถามว่าประชาชนได้อะไรจากการไล่คนออกจากป่า
ในกิจกรรมมีการแขวนป้ายผ้าในสกายวอล์คข้อความว่า ทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ และ ปลดแอกมรดกสงครามเย็นเหนือผืนป่า รวมทั้งมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผ่านโพลด้วยคำถามว่า คุณคิดว่าคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ และได้มีการอ่านแถลงการณ์ชู 4 ข้อเรียกร้อง
แถลงการณ์ระบุว่า นโยบายที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศทับ อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิด ว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่ประชาชนคนจนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องสูญเสียที่ดินและตายทั้งเป็น กี่ชีวิตแล้วที่ต้องล่มสลายไปเพราะนโยบายเผด็จการ
“พวกคุณเคยตระหนักหรือไม่ นโยบายขายฝันสวยหรูว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการทวงคืนผืนป่าให้คนในเมืองนั้น เป็นเพียงภาพมายาคติที่คนเมืองถูกรัฐหล่อหลอมและหลอกลวงให้เชื่อ กล่าวคือ พื้นที่ป่าที่รัฐไทยเข้าไปทวงคืนนั้นไม่ใช่ป่าบริสุทธ์ผุดผ่องมาจากสวรรค์หรือพระเจ้าองค์ใดประทานมาให้ แต่คือผืนดินที่มีผู้คนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจะถูกนิยามว่าเป็นป่าตามกฎหมาย เป็นการพรากสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นแนวคิดการประกาศสิทธิเหนืออาณาเขตที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดด้านความมั่นคง พวกมันยังคงล่าอาณานิคมดังเช่นยุคจักรวรรดินิยม รวมศูนย์อำนาจการปกครองพื้นที่ นอกจากเป็นมรดกบาปจากการรัฐประหาร คสช. แล้ว มันยังเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นอีกด้วย” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ยังระบุต่อว่า ในวาระครบรอบ 8 ปีนโยบายอัปยศของรัฐบาลอัปยศ พวกเราขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อิงแอบอำนาจเผด็จการทหารในการสร้างกฎหมายและนโยบายปกครองป่า และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้
1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด แล้วเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามผู้ถูกกดขี่และผู้อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง
2. สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบงบประมาณและแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งในการสนองความปรารถนาของชนชั้นปกครองที่อยากมีตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์
3. ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณากลั่นกลองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน โดยใช้ระบบไต่สวนลูกขุนในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยการปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน
4. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวต้นเรื่องของแผนทวงคืนผืนป่าระลอกใหม่ ต้องลาออก และต้องเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อคืนสิทธิสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง
พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าเพื่อคนเมืองทุกคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสนธิกำลังกันของทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อุทยานฯ ป่าไม้ เข้าไปในพื้นที่ของพี่น้องในเขตป่าที่ถูกรัฐไทยประกาศทับ ต้องถูกตัดฟันพืชผลอาสิน ถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งถูกจับกุมดำเนินคดี บางคนชีวิตต้องล่มสลาย บางคนต้องถูกอุ้มหาย พบเป็นกระดูกในพื้นที่ป่าที่เป็นบ้านตัวเอง
“จะเคลื่อนไหวผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องคดีความที่ทำให้พี่น้องไม่สามารถกลับเข้าไปทำกินได้ บางพื้นที่ต้องกลายเป็นเกษตรกรชั้นเลว ไม่มีที่ซุกหัวนอน ไม่มีที่ดินทำกิน เบื้องต้นต้องจัดการเรื่องคดีแล้วคืนพื้นที่พี่น้อง นอกจากนั้นคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เราได้เคลื่อนไหวมาโดยตลอดว่าได้อิงแอบอำนาจเผด็จการในการออกนโยบายมากดขี่ชาวบ้าน ใช้ทหารเป็นเครื่องมือ ใช้คนเมืองเป็นเครื่องมือ ฉะนั้นแนวคิดการจัดการป่าไม้ทั้งหมดจะต้องถูกถอดรื้อ ปฏิรูปให้เป็นแนวคิดการจัดการป่าไม้ที่ประชาชนมีส่วนร่วม” พชรกล่าว
#saveบางกลอย
#ชาติพันธุ์ก็คือคน
#ทวงคืนผืนป่า
#ปลดแอกมรดกสงครามเย็น
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...