05/06/2022
เสวนา ‘สารคดียุคใหม่ – จากมุมมองของคนทำและผู้ชม’ โดยเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน American Documentary Film Festival in Chiang Mai 2022 เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านแว่นและมุมมองของ “คุณวุฒิ บุญฤกษ์” อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคนทำสารคดี “บดินทร์ เทพรัตน์” นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร Starpics ดำเนินรายการโดยกลุ่ม Dude, Movie ที่จะชวนค้นหาคำตอบและพูดคุยว่าบทบาทของสารดีมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริงไหม? ทำไมหนังสารดีถึงหน้าสนใจ?
ในสังคมในปัจจุบันเราเห็นแนวโน้มของคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจงานสารคดีกันมากขึ้น แต่อันที่จริง สารคดีเองไม่เคยห่างหายไปจากหน้าสื่อเลย แต่ปรากฏการณ์การที่คนรุ่นใหม่สนใจเสพสื่อประเภทนี้มากขึ้น เป็นเพราะด้วยประเภทของสารคดีที่มีให้เลือกหลากหลาย และได้มีพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวที่ง่ายต่อการเข้าถึง เทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย Streaming ที่มีให้เลือกหลากหลาย ตอนนี้ทุกคนเองสามารถเป็นสื่อได้กันทั้งนั้น จึงทำให้สามารถหยิบยกประเด็นที่ทำออกมาได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาทางสังคม ปัญหาปากท้อง หรือจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากๆ เช่น สารคดี ‘Hope Frozen’ ก็ได้ถูกหยิบมาทำเป็นสื่อสารคดี ด้วยความที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีประเด็นหลากหลายหน้าสนใจ และมีผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ผุดขึ้นมาดั่งดอกเห็ด สารคดีจึงเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ
กระแสการเมืองถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่พลักให้สื่อสารคดีให้โดดเด่น ด้วยเนื้อหาที่สามารถพูดได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก ยิ่งเราเรียนรู้และตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐทำมากขึ้น เราตั้งคำถาม แต่เรากลับไม่เคยได้คำตอบกลับมา อีกหนึ่งในวิธีในการหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นคือ การเลือกดูเสพสื่อต่างๆ และไม่แปลกใจที่คนรุ่นใหม่จะสนใจสื่อสารคดีในการหาคำตอบ ประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาสนใจ ถ้าหากเรียบสารคดีเป็นกระจกเงาที่สะท้อนความจริงของสังคม สื่อกระแสหลักก็คงเป็นแอ่งน้ำที่สะท้อนภาพและความจริงให้เห็นเช่นกัน แต่มันก็กลับเลือนรางไม่ชัดเจนเอาเสียเลย สารคดีนั้นไม่ได้เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ปัญหาในสังคมหายไป หากแต่เป็นเพียงผู้บันทึกเหตุการณ์ เป็นพลังอุ่นๆ หรือในบ้างครั้งก็เป็นไฟอันร้อนแรงในใจ ให้คนออกมาพลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นดั่งใจ แม้สารคดีจะผลิตออกมามากเพียงไหน มีคนทำสารคดีมากเท่าไหร่ ก็ไม่สารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดสักที
เราจะเห็นสารคดีที่มักทำออกมาให้คล้ายเป็นหนัง fiction ส่วนบ้างครั้งก็เห็นหนังแนว fiction ชอบทำให้ตัวเองเหมือนสารคดี (Fictus คือคำในภาษาละตินหมายถึง “รูปแบบ” (To Form) ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า fiction เนื่องจาก ฟิคชั่น (fiction) นั้นเกิดขึ้นจากจินตนาการของนักเขียน) การปรุงแต่งสารคดีให่หน้าสนใจขึ้นนั้นทั้งสองท่านต่างให้ความเห็นตรงกันว่า มันคือเรื่องปกติในการผลิตสื่อไม่ได้ผิดหรืออย่างไร เราเองไม่สามารถหากรอบไปครอบว่านี่คือสารคดีนี่คือหนัง กรอบที่เรามองหนัง ไม่ใช่ผู้กำกับเป็นคนใส่กรอบ แต่คนดูต่างหากที่ใส่กรอบบางอย่างให้มันเอง เส้นแบ่งที่เลือนลางนี้ในโลกศิลปะมาสารถแบ่งแยกได้อีกต่อไปแล้ว สารคดีมันได้มอบอภิสิทธิ์ให้คุณ ว่าคุณจะตีความเหล่านั้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงของคุณอย่างไร อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกรับอะไรบ้าง
สุดท้ายแล้วอนาคตของสื่อสารคดีในมุมมองของ คุณวุฒิ บุญฤกษ์และบดินทร์ เทพรัตน์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เราจะสามารถพูดความจริงได้จริงยิ่งขึ้น เราสามารถทำให้มันตรงได้มากขึ้น อนาคตเราก็หวังว่าเราจะพูดความจริงได้โดยไม่ต้องอ้อมค้อมอีกเเล้ว
เรื่อง: ยอดเเยม
ภาพ: ณ พงศ์ ไทยวรานนท์
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...