31/05/2022
28 พฤษภาคม 2565 รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่บรรยายในโครงการ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมเอื้องหลวง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ปิยบุตร แสงกนกกุล เริ่มต้นการบรรยายว่า “หากจะเกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ต้องดำเนินการรื้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นตัวเสริมให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง ที่ผ่านมาท้องถิ่นขาดศักยภาพ จึงต้องร้องขอทรัพยากรจากส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ร่างรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นยาแรงในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น”
“ท้องถิ่นกลายเป็นท่อผ่านงบประมาณให้ส่วนกลาง งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่หมดไปกับการจ่ายเงินเดือนและงานฝากที่รัฐบาลสั่งการมา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหางบประมาณ เป็นนักเขียนโครงการของบประมาณ แทนที่จะเป็นนักพัฒนา ปัญหาของท้องถิ่นนอกจากไม่มีอำนาจ คือ ไม่มีเงิน” สอดคล้องกับมาตรา มาตรา 253 ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ที่คณะก้าวหน้า นำเสนอว่า “เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการเงินการคลัง และมีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดทําบริการสาธารณะตามหน้าที่และอํานาจ ให้มีกฎหมายกําหนดรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสําคัญดังต่อไปนี้ (1) การกําหนดอํานาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น (2) การให้อํานาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้เงินและการออกพันธบัตร (3) การกําหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น โดยพิจารณาจากจํานวนประชากร รายได้ ความสามารถในการจัดทําบริการสาธารณะของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง และความเท่าเทียมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการดําเนินการตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจของเงินอุดหนุนหรือตามข้อตกลงที่ได้ทํากับรัฐบาล”
ปิยบุตรย้ำถึงความสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมด รัฐบาลกลางดำเนินการเฉพาะเรื่องที่เป็นผลโดยตรงกับทั้งรัฐ” ซึ่งตามมาตรา 251 ในร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ของคณะก้าวหน้า มีการบัญญัติไว้ว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอํานาจโดยทั่วไปในการจัดทําบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยไม่รวมเรื่องดังต่อไปนี้ (1) ภารกิจทางทหารและการป้องกันประเทศ (2) ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (3) การดําเนินงานเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศ (4) การดําเนินงานของธนาคารกลางและระบบเงินตรา (5) บริการสาธารณะอื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกําหนด”
ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมา เราเกิดการกระจายอำนาจที่เน้นการเลือกตั้ง ส่งผลให้เป็นเพียงการเปิดสนามท้องถิ่นให้นักการเมือง ทั้งยังไม่มีความยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง เป็นมิติการกระจายอำนาจราชการให้ท้องถิ่น ไม่ใช่การไหลอำนาจไปสู่พลเมืองโดยตรง อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การกระจายอำนาจมีชีวิตชีวา”
ทั้งนี้ มาตรา 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ของคณะก้าวหน้า มีการบัญญัติไว้ว่า “ภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทํา แผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ภายในห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค”
หากสนใจสามารถศึกษาและลงชื่อสนับสนุนได้ที่ https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization/ ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 25,013 รายชื่อ ภายหลังจากการที่มีการนำเสนอแคมเปญดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...