NU-Movement แสดง Performance Art รำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35-53 จากฆาตกรสู่ผู้พิทักษ์ การชุมนุมที่ถูกแบ่งแยก และหยดเลือดสีแดงที่ถูกเช็ดล้าง ​

26/05/2022

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.00 นาฬิกา กลุ่ม NU-Movement (กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดพิษณุโลก) ได้จัดกิจกรรมการแสดง Performance Art ในชื่อ “รำลึกเหตุการณ์พฤษภา35-53” ณ บริเวณลานสมเด็จฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และในเดือนเดียวกันในปี 2553​

โดยทางกลุ่ม NU-Movement ต้องการสื่อให้เห็นถึงความต่อเนื่องของเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 มาสู่เหตุการณ์ฆ่าสังหารใจกลางกรุงในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ​ ​ ​
หลังชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจต่อจากคณะรัฐประหารนำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยู หรือเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักในชื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนนำมาซึ่งการบาดเจ็บรวม 1,728 ราย และเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 44 ราย (ผลจากการรายงานของกระทรวงมหาไทย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขจริงสูงกว่านั้นมาก)1 ​ หลังเหตุการณ์การชุมนุมครั้งดังกล่าว กองทัพถูกกดดันให้ออกจากการเมือง มีการอธิบายว่าสังคมไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกำลังก้าวสู่การเป็น “การเมืองที่ทหารไม่เป็นใหญ่” แบบเก่า พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมกำลังจะเติบโต2 ทหารถูกกันออกจากเวทีการเมืองและถูกให้ภาพเป็น “ฆาตกร” จนถึงกลับมาคำกล่าวว่าตอนนั้นทหารใส่ชุดมาเดินบนถนนนี่ถึงกับโดนชี้หน้าด่า​

หลังเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2535 ​ สื่อมวลชน ณ ขณะนั้นตั้งฉายาให้ว่า ม็อบมือถือ จากการสังเกตว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ใช้งานโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในเวลานั้น (ปี 2535) ทำให้เชื่อได้ว่าการชุมนุมในปี 2535 “กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง” และมีผลการศึกษาทางวิชาการออกมายืนยันว่า “ชนชั้นกลางเป็นพลังในการขับเคลื่อนสำคัญ” เหตุการณ์การชุมนุมครั้งดังกล่าวถูกให้ภาพไม่ใช่เพียงแค่การชุมนุมโดยชนชั้นกลางแต่คือ “โดยชนชั้นกลางในกรุงเทพ” ฉะนั้นสำนึกทางประวัติศาสตร์และภาพทางประวัติศาสตร์ที่ถูกฉายซ้ำไปมาคือการชุมนุมขับไล่ทหารในปี 2535การชุมนุมโดยชนชั้นกลางในกรุงเทพ ​

แต่ครั้นข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์การชุมนุนครั้งนั้นเป็นการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพจริงหรือ? เป็นคำที่ควรไถ่ถาม แต่จะไม่ขอตอบ ณ ที่นี้​
ความหวังและภาพฝันของสังคมไทยดำเนินมาสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกที่อยู่จนครบวาระเป็นครั้งแรก แต่ภาพฝันดังกล่าวถูกดับลงเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549 กองทัพกลับเข้ามาในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กองทัพไม่ใช่ฆาตกรแต่กลับกลายมาเป็น “ผู้พิทักษ์” เห็นได้จากจากปฏิกิริยาของสังคมในเวลานั้น มีกระทั่งการมอบดอกกุหลาบให้กลุ่มทหารที่ออกมารัฐประหารยึดอำนาจ​

หลังการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549 และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคนอมินีทักษิณ จนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และหลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่แกนนำคือพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการตั้งรัฐบาลได้ชื่อว่ารัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร และต่อมาถูกชุมนุมขับไล่โดยกลุ่ม นปช หรือ “คนเสื้อแดง” จนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด 2553” ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เปิดยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์เพื่อยุติการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 ราย จากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) แต่หลังเหตุการณ์สังหารโหดคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาเลือด 2553 สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้นได้เชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพมาทำความสะอาดครั้งยิ่งใหญ่ หรือ Big Cleaning Day หรือหากจะพูดให้ถูกก็คือกิจกรรมอำพรางความอำมหิตของรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชน โดยป้ายสีให้ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่สกปรก และจัดกิจกรรมทำความสะอาดชะล้างครั้งนี้ขึ้นมา​

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” ที่เกิดขึ้นในปี 2550 โดยภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงนี้มักถูกอธิบายว่าเป็น กลุ่มคนต่างจังหวัด สติปัญญาต่ำถูกหลอกง่ายและเป็นขี้ข้าของนักการเมือง จนมีการเรียกกลุ่มคนเสื้อแดงว่า “ควายแดง” เป็นสิ่งสกปรกที่มาแปดปื้นเมืองเทพอย่างกรุงเทพมหานคร ภาพการทำความสะอาด “เลือด” ที่ไหลนองพื้นเมืองเทพเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า “คนต่างหวัดถูกให้ภาพเช่นไร และจะถูกจดจำเช่นไร” ประวัติศาสตร์ของการชุมนุมในปี 2553 กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงจากการชุมนุมของม็อบมือถือปี 2535 ชีวิตและหยดเลือดที่ไหลนองพื้นเมืองเทพจึงไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าเท่ากัน เป็นการบอกว่าเลือดหยดไหลเป็นเลือดที่ควรจดจำและหยดไหนที่ไม่ควรจดจำ​

รับชม Performance art ได้ที่ https://www.facebook.com/numovementt/videos/1149984185784744
เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย​
ภาพ: NU-Movement​

#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง