“ครูตี๋”รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize”

26/05/2022

“ครูตี๋”รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize” หลังร่วมกับภาคประชาชนต้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงสำเร็จทำให้ระบบนิเวศรอดพ้นถูกทำลาย เจ้าตัวเผยไม่เป็นศัตรูใครชวนทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูสายน้ำ นักวิชาการชี้นำไปสู่การจัดการทรัพยากรด้วยธรรมาภิบาล​

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 07.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย หรือเวลา 17.00 น.ของวันที่ 25 พฤษภาคม ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ​ จะมีพิธีมอบรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน(Goldman Environmental Prize )ประจำปี 2565 โดยการถ่ายทอดสดด้วยระบบออนไลน์ ซึ่ง 1 ใน 6 ของผู้ที่ได้รับรางวัลระดับโลกครั้งนี้คือนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจนรัฐบาลไทยมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าว​

ทั้งนี้โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เริ่มต้นเมื่อปี 2543 โดยทางการจีนประกาศแผนการร่วมกับประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงที่จะระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะทาง 886 กิโลเมตรจากตอนใต้ของประเทศจีนไปถึงหลวงพระบางโดยลัดเลาะชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงราย 97 กิโลเมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้สะดวกทั้งปี เมื่อได้รับรู้ข้อมูลของโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ครูตี๋และประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง รวมถึงพันธมิตรด้านต่างๆได้ร่วมกันคัดค้านโดยพยายามชี้ให้เห็นถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ รวมถึงความมั่นคงด้านเขตแดนที่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในเส้นเขตแดน ในที่สุดบริษัทผู้พัฒนาโครงการจากจีนได้เดินทางมาพบครูตี๋และชาวบ้านเพื่อหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้หารือกับผู้บริหารจีนภายหลังจากที่มีข่าวการคัดค้านของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีไทยจึงมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าว​

รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของ Goldman ได้พิจารณาจากตัวแทนของทวีปต่างๆ 6 ภูมิภาค โดยครูตี๋ได้รับการคัดเลือกในฐานะตัวแทนของทวีปเอเชีย ส่วนที่เหลือประกอบด้วย 1.Chima Williams นักกฏมายสิ่งแวดล้อมจากประเทศไนจีเรียซึ่งมีบทบาทสำคัญกรณีน้ำมันรั่วและมีการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อชุมชน 2.Marjan Minnesma จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายด้านมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ3.Julien Vincent จากประเทศออสเตรเลีย ที่รณรงค์ระดับรากหญ้าให้มีการตัดงบที่ให้กับอุตสาหกรรมถ่านหิน 4. Nalleli Cobo จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนำพันธมิตรในชุมชนให้เคลื่อนไหวเพื่อปิดสถานที่ขุดเจาะน้ำมันที่เป็นพิษในชุมชน 5.Alex Lucitante และ Alexandra Narvaez จากประเทศเอกวาดอร์เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องดินแดนจากบรรพบุรุษของผู้คนจากการทำเหมืองทอง ​

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า รางวัลเป็นสิ่งหนึ่งที่พาให้คนได้เห็นเรื่องราวแม่น้ำโขงผ่านผู้คนที่ทำเรื่องราวนี้ คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนท้องถิ่นที่ต่อสู้ได้มีพลังมากขึ้นผ่านการรับรู้ เพราะโลกถูกทำลายมากขึ้น ทั้งจีนและอเมริการู้จักเรา สุดท้ายเราต้องทำให้เขาเห็นว่ามนุษยอยู่ร่วมกันต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ช่วงชิงกัน แต่ต้องลดทอนความเห็นแก่ตัวและความอยากได้ ​

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้สามารถระงับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงได้ แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่สามารถยับยั้งได้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาพูด แม่น้ำโขงจะถูกทำลายทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น และแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำใหญ่มีผู้ที่เกี่ยวข้องมาก สิ่งที่เราขับเคลื่อนไปฝืนกระแสพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ เราทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ได้ปลุกชีวิตของผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องร่วมกัน ​

“หากพูดถึงการเยียวยา ต้องเริ่มต้นต้องเยียวยาแม่น้ำก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นจากเยียวยาคน หากเยียวยาแม่น้ำก็เป็นการเยียวยาคน เราต้องทำให้แม่น้ำไหลตามฤดูกาล หน้าแล้งเกิดเกาะดอน หน้าฝนน้ำท่วม ไม่ใช่คิดแต่เรื่องทำอย่างไรให้ปลากลับมา เราต้องฟื้นฟูให้ระบบนิเวศกลับมาทำหน้าที่ จึงต้องแก้ไขและเยียวยาแม่น้ำ”ครูตี๋ กล่าว​

เมื่อถามอีกว่าหนักใจหรือไม่ที่แม่น้ำโขงการเป็นสมรภูมิระหว่างสหรัฐฯและจีน ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า การเมืองบนแม่น้ำโขงไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานับร้อยปีแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงแต่การเมืองเปลี่ยนผ่านกันไปขึ้นอยู่กับใครมีอำนาจ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เป็นการเมืองหาผลประโยชน็ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น คือการแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐและทุน ปัจจุบันหลายประเทศเข้ามาก็ไม่แปลก แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนหยัดได้ในการต่อสู้มากว่า 20 ปีคือสิ่งที่เราพูดหรือดำเนินการร่วมกันเป็นเรื่องราวผลประโยชน์ของประชาชนริมแม่น้ำโขง ​

“คุณจะมี สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือประเทศไหนก็ตาม ถ้าเห็นว่าแม่น้ำโขงจำเป็นต้องอนุรักษ์หรือรักษาและฟื้นฟู คุณคือพันธมิตรของเรา ตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่เราหยืดหยัดตลอด เราไม่ใด้ตั้งตัวเป็นศัตรูของใคร พวกเราคือผู้ปกป้องแม่น้ำโขง ดังนั้นใครที่ร่วมกับเราปกป้องแม่น้ำโขงเรารู้สึกยินดี”นายนิวัฒน์ กล่าว​

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และเคยได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ปี 1994กล่าวว่า ครูตี๋ได้พิสูจน์ว่าช่วงเวลามากกว่า 20 ปี ที่ได้ทำงานปกป้องแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาร่วมกับชุมชนตลอดลุ่มน้ำและภาคส่วนต่างๆ ได้ทุ่มเทอุทิศพลังใจพลังกายพลังปัญญา เพื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องความสำคัญของแม่น้ำโขง สื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เป็นหลักการที่สำคัญที่ต้องผลักดันในระดับชาติและภูมิภาค​

“หลายปีที่ผ่านมา ครูตี๋ได้ประสานให้คณะกรรมมาธิการต่างๆ ของวุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาตรวจสอบการร้องเรียนของกลุ่มรักษ์เชียงของและชุมชนลุ่มน้ำโขง ผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงชายแดน และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่มีการผลักดันโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งสองครั้ง คือ พศ.2545 และอีกครั้งช่วง พศ.2559-2563” นางเตือนใจ กล่าว​

นางเตือนใจกล่าวว่า ครูตี๋ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ยืดหยัดอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งบริษัทจีน จึงได้มาขอพบขอข้อมูลจากกลุ่มรักษ์เชียงของ หากแม่น้ำโขงถูกผูกขาดโดยภาครัฐและธุรกิจเดินเรือพาณิชย์ ธุรกิจพลังงาน หายนะของธรรมชาติและคนตัวเล็กตัวน้อยคงมาถึงในไม่ช้า เป็นเรื่องยากมากที่จีนจะยอมยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง แต่ครูตี๋และเครือข่ายภาคประชาชนก็ทำได้สำเร็จ​

ดร. คาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของครูตี๋ ได้นำคนจำนวนมากทุกวัยทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ มาเรียนรู้คุณค่าและการปกป้องแม่น้ำโขง โดยเครือข่ายแม่น้ำโขงในประเทศไทย ได้ท้าทายต่อโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขง ดังเช่น โครงการระเบิดแก่งบนแม่น้ำโขงซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี ยกเลิกโครงการ นี่คือ การอนุรักษ์ที่นำโดยรากหญ้า และนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างมีธรรมาภิบาล​

อนึ่งรางวัล Goldman Environmental Prize มอบรางวัลให้กับวีรบุรุษและวีรสตรีด้านสิ่งแวดล้อมจากแต่ละทวีปใน 6 ทวีปทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ความสำเร็จและความเป็นผู้นำของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้าจากทั่วโลกที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนลงมือทำเพื่อปกป้องโลก ซึ่งรางวัลนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1989 ในซานฟรานซิสโกโดยนักการกุศลและผู้นำพลเมือง Rhoda และ Richard Goldman ตลอดช่วงเวลา 33 ปี รางวัล Goldman Environmental Prize ได้มอบรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 213 รายจาก 93 ประเทศ โดยประเทศไทยมีผู้ที่เคยได้รับรางวัล 2 คนคือ นางเตือนใจ ดีเทศน์ (1994) และนายพิสิทธิ์ ชาญเสนาะ (2002)​

#lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง