5 พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย “การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด”​

16/05/2022

วันนี้ 15 พฤษภาคม 2565 ​ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ ได้จัดเวทีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย“การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ณ ลานอเนกประสงค์​ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ​ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพรรคการเมือง 5 พรรคได้แก่ 1. พรรคประชาธิปัตย์ 2. พรรครวมใจรักชาติ 3.พรรคเศรษฐกิจไทย 4.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ5. พรรคก้าวไกล ร่วมนำเสนอนโยบาย ทั้งนี้ มีพรรคไทยสร้างไทยร่วมสังเกตการณ์​

พรรคประชาธิปัตย์มองจากอดีตที่ผ่านมา ในช่วงที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคมีนโยบายที่โดดเด่น เช่นนโยบายในการผลักดันการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันในมีสภาตำบล และยังมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เชียงใหม่มีศักยภาพในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความพร้อม จึงเหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ​

เช่นเดียวกันกับพรรครวมใจรักชาติให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และจะสนับสนุนเต็มที่ วัฒนธรรมเชียงใหม่มีความเฉพาะ มีภาษาเขียน ภาษาพูดของตัวเอง น่าจะไปไกล ไม่ใช่แค่เมืองที่กำลังพัฒนา ควรมีผู้ว่าฯ ที่มาจากคนในพื้นที่ และพรรคพรรคครูไทยเพื่อประชาชนมีวาระการกระจายอำนาจเป็นหลัก และอยากเห็นการนำร่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่จะเป็นต้นแบบ อยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันทำ ไปในแนวทางเดียวกัน พื้นที่จะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ จะปฏิวัติการศึกษา หลักสูตร ครู และระบบบริหาร ต้องกระจายมาถึงโรงเรียน การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง​

ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย เสนอให้มีการยุบส่วนภูมิภาค ควรจะมีแค่ราชการส่วนกลางและท้องถิ่นเท่านั้น ท้องถิ่นต้องมีการยุบรวม ปรับปรุงให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับพรรคก้าวไกล กล่าวว่าเรื่องกระจายอำนาจเป็นนโยบายเรือธงของพรรค ในชื่อว่า “ยุตินโยบายรวมศูนย์” คืนอำนาจที่พวกเราเคยมี พรรคมี 5 เสาหลักที่เป็นการกระจายอำนาจที่ควรจะเป็น คือ 1) ต้องยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้เหลือเพียงรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น 2) งาน ต้องไปพร้อมกัน ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการบริการสาธารณะทั้งหมด 3) เงิน ท้องถิ่นได้เพียง 35% แต่เป็นเงินฝากไว้ ต้องผลักดันสัดส่วนรายได้ อย่างน้อย 50% ต้องเข้าท้องถิ่น และท้องถิ่นต้องสามารถหารายได้เพิ่มเองได้ด้วย 4) การจัดโครงสร้างท้องถิ่น ต้องสามารถจัดการเองได้ และ 5) การตรวจสอบการมีส่วนร่วม ต้องยิ่งมีการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยประชาชนในพื้นที่ สร้างเงื่อนไขให้ท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูล โปร่งใสได้ และประชาชนสามารถเข้าร่วมจัดการงบประมาณ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ต้องผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ต้องผลักเชิงโครงสร้างให้เป็นทั้งระบบ อีกทั้งยังเสนอให้ทำประชามติด้วย ​

หลังจากนั้น ธเนศวร์ เจริญเมือง ตัวแทนภาคีเครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ได้สรุปความเห็นจากทางพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคเอาไว้ว่า “วันนี้เราได้ความรู้ ความคิด ของแต่ละพรรค เราได้รู้เรื่องการเมืองประเทศไทย มันขาดการพัฒนาอย่างต่อเรื่อง ยกตัวอย่าง 8 ปีที่ผ่านมา เราเพิ่งมีการเลือกตั้ง มาไม่มีกี่วันมานี้ บัดนี้ประชาชนไทยตื่นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่พอ ยังต้องการเวลา บ่มเพาะ แลกเปลี่ยนกันต่อ ​

ทำไมเราจึงมีพรรคการเมืองจำนวนมาก? เนื่องจากระบบเราเป็นแบบนี้ เราอยู่ในกรอบหนึ่งซึ่งเขาเป็นคนกำหนดมา เรากลับเล็กลง ๆ แล้วมีอำนาจต่อรองน้อยลง ๆ การเลือกตั้งจะต้องมีครบทุก 4 ปี เราจะผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนแบบนี้ต่อไปอย่างไร การพูดคุยทางการเมืองจะต้องมีเรียนรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุย พบปะกันเสมอ ข้าราชการท้องถิ่นจะทำยังไง ก็ให้เป็นเรื่องของประชามติหรือการพูดคุยกัน”​

ทางไพรัช ใหม่ชมพู คณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มองว่าวันนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะว่าการเชิญพรรคการเมืองมาให้เสนอนโยบายเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราไม่เคยจัดเลยสักครั้ง และมองว่าการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ จะสำเร็จได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างคือ พรรคการเมืองเห็นด้วย และพี่น้องประชาชนเห็นด้วย โดยทั้ง 2 ปัจจัยหลักนี้จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ​

แม้ก่อนหน้านี้ เราได้มีการพยายามขับเคลื่อนพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครต่อสภา แต่ก็หยุดชะงักไปเนื่องจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนี้เราจึงเริ่มขับเคลื่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานไปกับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราจะสรุปบทเรียนและวางแผนระยะยาวต่อไป รวมถึงจะลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน​

โดยจังหวะในการขยับต่อจากนี้นั้นทางภาคีจะจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ โดยกิจกรรมภายในงานจะมีกิจกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เสมือนจริง (และเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์) คู่ขนานไปกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นอกจากนี้จะมีการเดินขบวน ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์, การแสดงทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จากผู้แทนทุกกลุ่มอาชีพ และนิทรรศการปัญหาในเชียงใหม่ที่แก้ไม่ได้ เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ณ ลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ เวลา 16.00 -19.00 น. ​




#lanner #กระทรวงมหาดไทย #ผู้ว่าราชการจังหวัด #เลือกตั้งผู้ว่า #ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร #รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าเชียงใหม่ #ผู้ว่าเชียงใหม่ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง