13/05/2022
ชุมชนบ้านแม่ส้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตําบลบ้านดง อําเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง ชุมชนเป็นคนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง บ้านแม่ส้านมีเนื้อที่ทั้งหมดที่ดูแลรักษา 18,102 ไร่ ชุมชนอยู่ห่างจากตัวอําเภอแม่เมาะ 80 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําไร่หมุนเวียน ทําสวนกาแฟ และมะแข่วนที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน
ชวนซึมซับ #บันทึกจากไร่หมุนเวียน ในมุมมองของพชร คำชำนาญ ที่ได้เดินทางไปพักผ่อนช่วงพักร้อน เพื่อมองดูวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่ไม่รู้ว่าไร่หมุนเวียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในวันข้างหน้า
สายวันอาทิตย์ ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน
นับเป็นวันที่ 5 แล้ว ตั้งแต่ผมตัดสินใจพาตัวเองออกมาจากชุมชนบ้านกลาง มุ่งตรงสู่ชุมชนบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อันเป็นชุมชนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมาอย่างยาวนาน
มื้อเช้าเรียบง่ายของผมประกอบด้วยแกงเนื้อวัวและปลากระป๋อง ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ผลผลิตจาก “ฆึ” หรือ “ไร่หมุนเวียน” ของชาวกะเหรี่ยง ฝากท้องไว้ที่บ้านของ “น้องแบงค์” ที่ได้กรุณาให้ผมได้หลับนอนที่บ้านเมื่อคืนนี้
ผมทานอาหารได้มากกว่าปรกติ อาหารถูกปากเป็นพิเศษ ประกอบกับเมื่อคืนแทบไม่มีอะไรตกถึงท้อง ไม่ใช่เพราะพี่น้องดูแลผมไม่ดี แต่เพราะผมดื่มหนักเกินไปหน่อย
ผมนั่งอยู่ที่หน้าบ้านของ “อ้ายนนท์” ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านที่ผมสนิทด้วยที่สุด เราได้พบกันในหลายเวทีเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ อันที่จริงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผมทำงานกับพี่น้องในภาคเหนือ ยังไม่เคยได้มาเยือนชุมชนแห่งนี้แม้เพียงสักครั้ง แต่ได้ยินชื่อมาอย่างยาวนาน ด้วยจุดเด่นที่สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน
สลัดหัวมึงตึง ทานยาแก้เมาหนึ่งเม็ด อัดเอ็ม 150 หนึ่งขวด สะพายย่ามกะเหรี่ยงสีแดงใบโปรดที่บรรจุด้วยห่อข้าว บุหรี่ เพาเวอร์แบงค์ กระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ของอ้ายนนท์
วันนี้เราจะไป “หยอดข้าว” ในไร่หมุนเวียนกัน!
ใช้เวลาไม่นาน เราเดินทางกันด้วยมอเตอร์ไซค์ไปที่ไร่หมุนเวียนแปลงเป้าหมาย ไร่หมุนเวียนแปลงนี้อยู่ติดถนน สัญจรง่าย เพียงประมาณ 5 นาทีเราก็เดินทางมาถึงกันแล้ว
วันนี้อยู่บนไร่หมุนเวียนของ “อ้ายบอย” ชาญชัย ลาภมา ขนาดไร่หมุนเวียนประมาณ 3 ไร่กว่า โอบล้อมไปด้วยพื้นที่ “ไร่เหล่า” หรือไร่พักฟื้น และผืนป่าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา
สภาพหญ้าและวัชพืชอื่นๆ เริ่มขึ้นให้เห็นชัดเจน ภายหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั้งเดือน ชาวบ้านน่าจะต้องลงแรง “เอาหญ้า” กันอย่างหนักหลังข้าวเริ่มงอก อีกหนึ่งผลพวงจากมาตรการห้ามเผาที่บีบให้ชาวบ้านต้องชิงเผาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่าเร็วเกินไปมาก เมื่อต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้นานเกินไปสภาพก็จะเป็นเช่นนี้
บรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงออกแบบปฏิทินไร่หมุนเวียนมาอย่างดี แท้ที่จริงชาวบ้านควรจะได้เผาไร่ตามวิถีดั้งเดิม คือเดือนมีนาคม และหยอดข้าวช่วงปลายเดือนเมษายน หญ้าก็จะไม่มาก ขี้เถ้าที่เป็นปุ๋ยธาตุตามธรรมชาติก็จะยังอยู่ครบ
ชีวิตที่ออกแบบเองไม่ได้จากมาตรการของรัฐเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการอยู่ใต้อาณานิคมของกรมอุทยานฯ
ในเบื้องต้น ผู้ชายจะหาไม้ไผ่ขนาดเหมาะมือ ตัดให้ยาวประมาณ 2.5 เมตร สำหรับเป็นด้ามเสียม เสียมที่ใช้ขุดนี้จะขุดหน้าดินเพียงเล็กน้อยสำหรับเป็นหลุมให้หยอดเมล็ดพันธุ์ได้ โดยที่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนหยอด
กะจากสายตา วันนี้เรามีแรงงานชาวบ้านมาช่วยกันประมาณ 30 คน เป็นระบบที่เรียกว่าการ “เอามื้อ” ไม่ต้องจ้างแรงงานกันด้วยเงิน แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บ้านไหนมาเอามื้อ หากบ้านนั้นมีกำหนดการหยอดข้าว เจ้าของไร่อย่างอ้ายบอยและครอบครัวก็ต้องไปเอามื้อ หรือ “ใช้แรง” กลับ
เสียมพร้อม เมล็ดพันธุ์พร้อม แรงพร้อม ที่สำคัญใจพร้อม เริ่มหยอดข้าวได้
เมล็ดพันธุ์ถูกผสมลงกระสอบ ตั้งแต่ข้าว งาขาว งาดำ และดอกหงอนไก่
ดอกหงอนไก่ หรือ พอวอ คือดอกไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียน มีทั้งสีเหลือง สีแดง สีส้ม หรือสีม่วง ดอกหงอนไก่นี้เสมือนเป็นขวัญของไร่หมุนเวียน โดยชาวกะเหรี่ยงที่นี่จะเชื่อกันว่า หากปีไหนที่ดอกหงอนไก่ออกดี ข้าวจะงามตามไปด้วย
“เมล็ดพันธุ์ต้องเก็บปีต่อปี ถ้าเก็บไว้นานเกินไปข้าวมันจะแข็งตัว แล้วไม่ค่อยงอก”
อ้ายนนท์เล่าให้ฟัง แล้วเพิ่มเติมข้อมูลว่า พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ข้าว 1 ถัง เชื้อข้าว 1 ถัง หากได้ผลผลิตดี จะกลายเป็นเมล็ดข้าวอีก 40-50 ถัง ซึ่งนั่นหมายความว่าในพื้นที่ขนาด 3 ไร่ของอ้ายบอยนี้ ขีดสุดของผลผลิตจะอยู่ที่ข้าว 150 ถัง ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภครวมถึงแบ่งปันให้คนอื่นด้วย
“เช่นไร่ของน้องเบล (ชาวบ้านคนหนึ่ง) ปีที่แล้วได้ข้าวเป็นร้อยกระสอบ กินไม่หมด ก็ต้องเอาไปแบ่งให้ญาติๆ กิน คือเขาไม่ต้องทำไร่ปีนี้ยังได้เลย” อ้ายนนท์กล่าว
นี่คือระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงที่สุด ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่จะมีที่นา พวกเขาอาศัยไร่กมุนเวียนนี้เองในการหล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ
ทันใดนั้นถ้อยคำของ “พะตี่จอขละ ต้นน้ำเพชร” ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็ลอยเข้ามาในหัว
“ถ้ามีข้าวกิน ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรสักอย่าง”
เมล็ดพันธุ์เมล็ดแล้วเมล็ดเล่าถูกหยอดลงสู่หลุมรอวันเติบโต คงจริงอย่างที่พะตี่จอขละว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องห่วงอะไรซักอย่างเพราะมีข้าว ต่างจากบางกลอยสิ้นเชิง
แต่ว่าพะตี่จะได้กลับไปปลูกไร่ข้าวอีกไหม ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ
เสียงเพรียกถึงอนาคต ความมั่นคงของชีวิตในกำมืออุทยานฯ
นับแต่ปี 2534 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแผนประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททับพื้นที่ชุมชน อาจนับเป็นวันแรกแห่งฝันร้ายของชุมชน และไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงก็ตกเป็นเป้าหมายหลักในการทวงคืน
“ถ้าอุทยานฯ ประกาศแล้ว การทำไร่หมุนเวียนจะมีปัญหา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะมารุกล้ำเรา วันนั้นอุทยานฯ ก็จะมาขอพื้นที่ไร่หมุนเวียนคืน นี่ขนาดไม่ได้ประกาศอุทยานฯ นะ ยังเตรียมการ ถ้าประกาศแล้วจะขนาดไหน ผมคิดว่าปัญหาในการทำไร่หมุนเวียนคงมีจริงๆ” นัฐวุฒิ กาหลง หรือ “อ้ายก๋อ” ชาวบ้านแม่ส้านกล่าว
อ้ายก๋อยังกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้อุทยานฯ เขาขอคืน ถ้าประกาศอุทยานฯ แล้ว คงกลายเป็นดำเนินคดี ชาวบ้านจะเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน
ผมถามอ้ายก๋อต่อ ว่าหากอุทยานฯ ยื่นข้อเสนอให้จำกัดรอบหมุนเวียน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือทำนาแทนจะได้ไหม
“บางคนเขาไม่มีพื้นที่ราบ เขาจะทำนาได้อย่างไร ชาวบ้าน 30-40 เปอร์เซ็นต์เขาไม่มีที่ราบ เขาทำนาไม่ได้หรอก เขาต้องทำไร่หมุนเวียน”
อ้ายก๋อเสริมว่า ในไร่หมุนเวียนมีผักหลายอย่าง มีพริก ถั่ว แตง ถ้าไปทำนา ผักพวกนี้ปลูกไม่ได้ อนาคตเราก็ต้องใช้เงินซื้อพริก มะเขือ ผัก ไร่หมุนเวียนเราไม่ได้มีแค่ข้าว เรามีหลายอย่าง เรามีทุกอย่างเพื่อให้คุ้มกับการถางไร่หนึ่งครั้ง
“ถ้ามาจำกัดรอบหมุนเวียน พืชผักก็ไม่สวยงาม หญ้าเยอะ นี่เราไม่ใช้สารเคมีเลยนะ เราเอาหญ้าด้วยมือ ใช้เกลือบ้าง ซึ่งเราก็มีการลงทุน แต่เทียบไม่ได้กับการต้องใช้สารเคมี ดินจะเสีย ข้าวไม่งาม เป็นอันตรายด้วย” อ้ายก๋ออธิบาย
ไร่เหล่ายังคงเจริญเติบโต ดูดซับคาร์บอนจากการเผาไร่ปัจจุบัน อีกไม่นานไม้คงใหญ่จนกลายเป็นพื้นที่ป่า พร้อมให้อุทยานฯ กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่
ถูกต้องดังที่พะตี่จอขละว่าส่วนหนึ่ง มีข้าวไม่ต้องกังวลอะไร แต่ชาวบ้านแม่ส้านได้ตอบออกมาแล้วว่าความกังวลยังคงมี
นั่นคือแนวทางการจัดการป่าอุทยานไทย ที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
การต่อสู้จึงยังดำรง การเรียกร้องจึงยังมีอยู่ โดยมีปากท้องและอนาคตของลูกหลานเป็นเดิมพัน
หลังถวายหัวข้าวเสร็จ พวกเรารับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน กับข้าววันนี้ประกอบด้วยแกงฟักใส่ไก่และต้มปลาทู
ทานข้าวเสร็จ พักผ่อนสักครู่ พวกเราก็พากันไปหยอดข้าวต่อ จนเวลาบ่ยโมงงานลุล่วงจึงเดินทางกลับบ้าน
สายลมพัดเอื่อย ฝนตั้งเค้าอีกครั้ง เป็นสัญญาณว่าเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่งหยอดไปสักครู่จะงอกงาม ชาวบ้านจะยังคงมีข้าวกิน
และเป็นสัญญาณว่า “กะเหรี่ยง” จะยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในผืนป่า ดูแล รักษา ควบคู่กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
หากวันข้างหน้าและปีต่อๆ ไป เราไม่อาจรู้…
เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ
#บันทึกจากไร่หมุนเวียน