10/05/2022
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ช่องยูทูป “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ได้เผยแพร่เนื้อหาสารคดี ในหัวข้อ “‘ส่องหลักฐาน’ 3 กษัตริย์ ไม่ได้ร่วมกันสร้างเชียงใหม่” โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการและนำเสนอการศึกษาถึงประเด็นความเชื่อเรื่อง 3 กษัตริย์ ได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพระร่วง มาร่วมกันสร้างเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 จนนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ว่าความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น Lanner เห็นว่าเนื้อหาสารคดีดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ
สมฤทธิ์ ลือชัย เริ่มต้นโดยการตั้งข้อสังเกตว่า แม้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองและระหว่างรัฐจะเป็นเรื่องปกติ แต่ความสัมพันธ์ที่นำมาสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “มาสร้างบ้านสร้างเมืองเชียงใหม่” ดูจะเป็นเหตุการณ์ที่แปลกเป็นพิเศษ และไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ดินแดนแถบนี้ คือพญางำเมืองเดินทางมาจากพะเยา พระร่วงต้องเดินทางมาจากสุโขทัย เพียงเพื่อมาร่วมสร้างเมือง จึงอยากจะชวนตรวจสอบเหตุการณ์เรื่องราวของ “สามกษัตริย์” ว่ามีหลักฐานอะไรมายืนยันข้อเท็จจริง หรือถ้าไม่จริง แล้วมีหลักฐานอะไรยืนยัน จากนั้น รายการพยายามพิสูจน์หลักฐานใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เอกสาร, ศิลาจารึก และหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ
📍 ไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์ใดชี้ชัดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่
สมฤทธิ์ได้เริ่มต้นในประเด็นเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยกล่าวถึงเอกสารเก่าแก่ที่ชื่อว่า “มูลศาสนา” เขียนโดยท่านพุทธภูกามและพุทธญาณ พระสงฆ์รูปนี้เป็นพระของวัดสวนดอก ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนว่า
“วันหนึ่งพระยามังรายไปแอ่วที่ตีนดอยอุจฉุบรรพตคือว่าดอยละวะโพ้น พระยาเห็นดอยอันหนึ่งใหญ่กว้างงามนัก จักใคร่ตั้งเมือง…จึงให้แต่งเวียงวัดเอาทางยาวนั้น 1000 วา ทางกว้าง 900 วา แล้วจึงตั้งเรือนหลวง 20 ห้อง เสร็จบริบูรณ์ทุกอัน จึงให้นักปราชญ์ทั้งหลายพิจารณาดูเลิกวันยามอันเป็นมงคลแล้ว ก็ให้จัดพิธีขึ้นสู่เรือนหลวงในวันนั้น เมืองอันใหม่นี้จึงได้ชื่อว่าเชียงใหม่เพื่อเหตุนั้นแล..”
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องของพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่กล่าวถึงพญางำเมือง พระร่วง มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ พูดง่ายๆ ไม่มีเรื่องของ “สามกษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่”
สมฤทธิ์กล่าวถึงวัดสวนดอกว่า เป็นวัดที่พระเจ้ากือนาสร้างให้แก่ พระสุมนเถระ พระสงฆ์รูปนี้คือพระสงฆ์ที่มาจากสุโขทัย นำพุทธศาสนารามัญวงศ์จากสุโขทัย มาเผยแพร่ในล้านนาในเชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาอิทธิพลของสุโขทัยก็มาแพร่หลายอยู่ในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปกรรม ศาสนา ตัวอักษร โดยเฉพาะตัวอักษรล้านนาที่เรียกว่าฟักขามก็ได้รับอิทธิพลมาจากอักษรสุโขทัย พูดง่ายๆ วัดสวนดอกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสุโขทัย ใกล้ชิดกับพระร่วง ราชวงศ์พระร่วง แต่หนังสือมูลศาสนาซึ่งเขียนโดยพระภิกษุที่อยู่วัดนี้กลับไม่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพญามังรายกับพระร่วง ว่ามาสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วยกันเลย
และมีหนังสืออีกสองเล่มคือตำนานเชียงแสนกับตำนานเชียงรายเชียงแสน ซึ่งสองเล่มนี้ก็กล่าวถึงเรื่องของการสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ว่าไม่ได้กล่าวถึงสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่เลย หนังสือทั้งสามเล่มนี้ระบุเพียงแต่เรื่องที่พญามังรายเท่านั้นที่สร้างเมืองเชียงใหม่
เมื่อตรวจสอบแล้วเรื่องของความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ ไปปรากฏในเอกสารที่มีความสำคัญมากๆ ทางประวัติศาสตร์ล้านนาชื่อว่า “หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์” เขียนโดยพระรตนปัญญาเถระ วัดป่าแดงหลวง ซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ หนังสือเขียนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2071 ห่างจากเหตุการณ์พญามังรายสร้างเชียงใหม่ 232 ปีหนังสือเล่มนี้เขียนว่า
“จากนั้นมาถึงปีกุน จุลศักราช 649 (พ.ศ. 1830) กษัตริย์สามพระองค์ก็คือ พระเจ้ามังราย หนึ่ง พระเจ้างำเมือง หนึ่งพระเจ้าโรจ หนึ่ง (หมายถึง พระร่วง) เป็นพระสหายกัน นัดประชุมกันในสถานที่นัดแนะการชนะ (ประตูชัย) ผูกมิตรภาพซึ่งกันและกันแน่นแฟ้น แล้วต่างก็เสด็จกลับเมืองของตนๆ ตำนานเดิมปรากฏดังนี้ จากนั้นพระองค์ทรงสร้างนครเชียงใหม่ในท้องที่ระหว่างภูเขาอุจฉุคิรี (ดอยสุเทพ) กับแม่น้ำพิงค์ เมื่อปีวอก จุลศักราช 685”
หมายความว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงพญามังราย พญางำเมือง พระร่วง ได้มาพบมาประชุมกัน แล้วก็ผูกมิตรกันจากนั้นก็กลับบ้านกลับเมืองไป ชินกาลมาลีปกรณ์ไม่ได้พูดถึงเรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่น่าสนใจที่พูดถึงเรื่องสามกษัตริย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีเหตุมีผล เล่าเรื่องพญามังรายสร้างเมืองเชียงรายเสร็จ เข้าไปตีเมืองต่างๆ หลังจากนั้นก็แทรกข้อความนี้เข้ามาว่าสามกษัตริย์มาเจอกัน แล้วก็เป็นมิตรกัน แล้วก็แยกไปบ้านใครบ้านมัน
ข้อความให้น่าสงสัยเพราะพระรัตนปัญญาเถระเขียนไว้ชัดเจนตอนลงท้ายว่า “ตำนานเดิมว่าดังนี้” ก็หมายความว่าพระรัตนปัญญาเถระต้องไปเอาตำนานเดิมแทรกเข้ามา ซึ่งอันนี้น่าสงสัยว่าตำนานเดิมที่ทิ้งท้ายไว้คือเรื่องเล่าที่เชื่อกันไปตอนนั้น หรือมีตำนานเป็นเอกสารยืนยันจริงๆ
สมฤทธิ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าตำนานนี้ ไปสอดคล้องกับเรื่องของสามบุคคลสำคัญใน “สามก๊ก” ก็คือเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานกันที่สวนดอกท้อ มันเป็นอิทธิพลสามก๊กหรือไม่ โดยล้านนาได้รับอิทธิพลจีนมากมาย ปีนักษัตรล้านนานก็ได้อิทธิพลจากจีน เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่อิทธิพลของสามก๊กจะเข้ามา ในเรื่องความผูกพันของสามคน แล้วก็กลายมาเป็นความผูกพันของสามกษัตริย์ที่ปรากฏในพงศาวดารของล้านนา
ที่สำคัญคือชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนหลังจากที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ 232 ปี ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเชียงใหม่ พูดแต่ว่าวันหนึ่งตีเมืองอะไรก็ไม่รู้ได้ แล้วมาเป็นมิตรกัน ก่อนแยกกันไป เอกสารในล้านนาทั้งหมดที่ยกมานี้ ก็ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์มาสร้างเชียงใหม่
สมฤทธิ์ชี้ว่า หนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” เขียนด้วยภาษาบาลี แต่ต้นฉบับดั้งเดิมนั้นต้องเป็นอักษรล้านนา เท่าที่ค้นเจอในปัจจุบัน ยังไม่เจอฉบับที่เป็นอักษรล้านนา แต่เท่าที่ค้นเจอมีอักษรขอมอยู่ 10 ฉบับ อักษรมอญ 1 ฉบับ เชื่อกันว่าอักษรมอญนั้นน่าจะเขียนในสมัยธนบุรี
ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจก็คือ ฉบับที่เขียนด้วยอักษรขอมน่าจะเป็นฉบับที่มีการคัดลอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรืออย่างช้าที่สุดคือต้นรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยนั้นเอกสารหรือคัมภีร์ทางศาสนามักจะเขียนด้วยอักษรขอม พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีรับสั่งให้แปรชินกาลมาลีปกรณ์ อักษรขอมมาเป็นภาษาไทย
สมฤทธิ์ระบุว่า หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์นี้ กล่าวถึงเรื่องประวัติพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงล้านนา โดยได้แทรกเรื่องของประวัติศาสตร์บ้านเมืองในแถบนี้ เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวันเวลาที่บันทึกไว้นั้นค่อนข้างจะน่าเชื่อถือ และหนังสือเล่มนี้ก็ชี้เพียงว่าสามกษัตริย์มาเจอกันผูกมิตรกัน แต่ไม่ได้พูดว่ามาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใด
สมฤทธิ์ยังกล่าวถึงอีกประเด็นข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมที่ข้อความที่ระบุเรื่องสามกษัตริย์มารู้จักกัน โผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เพราะเป็นข้อความที่ถูกใส่เข้ามาในสมัยอยุธยา หรืออย่างช้าที่สุดคือต้นรัตนโกสินทร์ ในตอนที่มีการแปลงจากตัวอักษรล้านนาเป็นอักษรขอม เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์จนกว่าเราจะเจอหลักฐานที่เป็นอักษรล้านนาจริงๆ ว่ามีการกล่าวถึงไหม
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่าเป็นเรื่องของการขยายอำนาจของชุมชนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน คือตระกูลภาษาไตไท การที่ขยายเขตอิทธิพลวัฒนธรรมตระกูลภาษานี้ ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าของภูมิภาคนี้ในตอนนั้น
สมฤทธิ์อ้างถึงความเห็นของสุจิตต์ ที่ได้ระบุว่า “เป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าเกี่ยวกับการขยายอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไตไทไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป โดยผูกเรื่องมีนิยายให้สามกษัตริย์นัดพบกันด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง” เรื่องของสามกษัตริย์มาพบกันนั้นจึงมีลักษณะเป็นนิยาย เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของความสัมพันธ์วัฒนธรรมตระกูลภาษาไตไทเท่านั้นเอง
📍 ตำนานสามกษัตริย์ดูเหมือนเพิ่งปรากฏในเอกสารที่เขียนช่วงต้นรัตนโกสินทร์
เรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่อยู่ในเอกสารไหน เรื่องราวรายละเอียดที่ว่ามาปรากฏอยู่ในเอกสารชื่อว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ในหนังสือเล่มนี้ได้บอกว่า “พญาพ้อยรำเพิงว่า กูจักสร้างบ้านแปงเมืองอันใหญ่แท้ ควรกูไปเชิญเอาพญางำเมือง พญาร่วงอันเป็นสหายกูมาควรชะแลว่าอั้น แล้วก็ใช้ไปเชิญเอาสหายตนคือพญางำเมือง พญาร่วงมาหั้นแล…”
หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ตำนานสิบห้าราชวงศ์” คำว่าสิบห้าราชวงศ์แปลว่าสิบห้ารัชกาล ก็คือราชวงศ์มังรายที่ปกครองล้านนา ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนว่า “พญาพ้อยรำเพิงว่า กูจักสร้างบ้านแปงเมืองอันใหญ่แท้ ควรกูใช้ไปเชิญเอาพระยางำเมือง พระยาร่วงอันเป็นสหายกูมาควรชะแล วว่าอั้นแล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาสหายตนคือพระยางำเมือง พระยาร่วงมาหั้นแล…”
เห็นได้ว่าทั้งสองตำนานมีข้อความคล้ายคลึง หรือจะเรียกว่าเหมือนกันทุกคำ ทั้ง 2 ฉบับจึงคงจะคัดลอกมาจากต้นฉบับเดียวกัน และถ้าไปตรวจสอบถึงอายุเอกสาร ซึ่งก็มีอีกหลายฉบับที่ใช้คำว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า ฉบับวัดพระงามของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อตรวจสอบได้ระบุว่าเขียนเมื่อศักราช 1216 ซึ่งก็ตรงกับ พ.ศ. 2397 คือสมัยรัชกาลที่ 4 จะเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด และเชื่อกันว่าตำนานสองฉบับ คงจะคัดลอกมาจากฉบับนี้ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น
เอกสารเหล่านี้ได้ให้รายละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ คือบอกว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ น่าแปลกใจว่าเอกสารเก่าไปถึงชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนา ไม่พูดถึงเรื่องสามกษัตริย์มาสร้างเชียงใหม่ แต่พอมาถึงสมัยเอกสารที่คัดลอกล่าสุดช่วงรัตนโกสินทร์นี้ ให้รายละเอียดเลยว่ากษัตริย์ทั้งสามมารวมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำไมข้อมูลมันถึงได้เพิ่มขึ้น มากขึ้น และจนกระทั่งละเอียดขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
📍 จารึกวัดเชียงมั่น: ยังไม่ชัดเจนว่าข้อความในจารึกจริงหรือไม่ หลายจารึกก็ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง
หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ คือจารึกวัดเชียงมั่น จารึกหลักนี้ได้ระบุว่าเขียนในศักราช 943 หรือ พ.ศ. 2124 ในรัชสมัยของกษัตริย์พม่าที่ชื่อว่าสาวัตถีนรถามังช่อ โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งในเวลานั้นเชียงใหม่ตกเป็นของพม่า แล้วก็มีการบูรณะวัดเชียงมั่น ในการบูรณะคราวนั้นถึงได้มีการสร้างจารึกเพื่อเป็นที่ระลึก
ข้อความในจารึกได้กล่าวย้อนไปถึงอดีตของวัดเชียงมั่นว่า “ศักราช 658 (พ.ศ. 1839) ปีระวานสัน เดือนวิสาขะ… พญามังรายเจ้าแลพญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตนตั้งห้อนอนในที่ชัยภูมิราชมณเฑียร ขุดคือ ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน…”
ข้อความที่กล่าวในจารึกยืนยันว่า ในวันสร้างเมืองเชียงใหม่มีสามกษัตริย์มาร่วมสร้าง แต่ว่าจารึกหลักนี้ได้เขียนชัดเจนว่า ทำขึ้นห่างจากเหตุการณ์ที่พญามังรายสร้างเชียงใหม่ 285 ปี ในเรื่องของจารึกนี้อาจจะมีทั้งข้อความที่จริงหรือไม่จริงก็ได้ จะต้องมีการตรวจสอบกับหลักฐานอื่นอีก
สมฤทธิ์ยังพิจารณาไปถึงตัวอย่างของอีกสองจารึก ได้แก่ จารึกวัดเชียงสา ที่เขียนโดยพระไชยเชษฐาธิราช ก่อนหน้านั้นเคยมาปกครองล้านนาแล้วก็ไปปกครองที่ล้านช้าง จารึกหลักนี้ได้เขียนชัดเจนว่าเขียนปี พ.ศ. 2096 เป็นการบูรณะเป็นการสร้างวัดเชียงสาซึ่งอยู่แถวเมืองเชียงของ จารึกหลักนี้ได้ระบุว่า “สมเด็จบรมบพิตรตนสถิตเสวยราชพิภพ ทั้งสองแผ่นดินล้านช้างล้านนา“
จารึกวัดเชียงสาได้บอกว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาเป็นกษัตริย์สองแผ่นดิน ล้านช้าง-ล้านนา แต่ประวัติศาสตร์ล้านนาระบุไว้ชัดเจนปี พ.ศ. 2096 เชียงใหม่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่ชื่อพระเมกุฎ เป็นทายาทของพญามังราย สายเมืองนาย หมายความว่าปีนั้น พระไชยเชษฐาเป็นกษัตริย์ล้านช้างจริง แต่ไม่ได้เป็นกษัตริย์ล้านนา นี่คือหลักฐานหนึ่งที่จารึกนั้นอาจระบุข้อความที่จะเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง ยังต้องมีการตรวจสอบ
อีกจารึกหนึ่ง คือจารึกเขาสุมนกูฏของพญาลิไทที่สุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อตอนที่พญาลิไทได้สร้างรอยพระพุทธบาทสี่รอย แล้วก็รอยหนึ่เอาไปประดิษฐานบนเขาที่เมืองสุโขทัย และเขาลูกนี้ก็ตั้งชื่อว่าเขาสุมนกูฏตามชื่อเขาสุมนกูฏในลังกา ข้อความในจารึกก็เขียนไว้ว่า “เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฎบรรพต…เรียกชื่อดังอั้น เพื่อไปพิมพ์เอารอยตีนพระพุทธเจ้า อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพต… ในลังกาทวีปพู้น มาประดิษฐานไว้ เหนือจอมเขาอันนี้แล้ว…”
ข้อความในจารึกก็หมายความว่าพญาลิไทให้คนไปจำลองรอยพุทธบาทเขาสุมนกูฏที่ลังกา แล้วเอามาสร้าง ประดิษฐานที่สุโขทัย แต่ปรากฏว่ารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดพังทอง เป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดับด้วยมงคลร้อยแปดมีลวดลายประดับมากมาย ดังนั้นข้อความที่เขียนนจารึกก็ไม่เป็นจริง เพราะรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในลังกา เป็นรอยพระพุทธบาทเปล่าไม่มีลวดลาย ไม่มีมงคลร้อยแปดประดับ เป็นแค่ร่องหินธรรมดา ในขณะที่รอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏสุโขทัยเต็มไปด้วยลวดลาย เต็มไปด้วยมงคลร้อยแปด
ในศิลาจารึกวัดเชียงมั่น แม้จะมีข้อความว่าสามกษัตริย์เคยมานอนที่นี่ หลายคนยืนยันว่านี่เป็นหลักฐานถึงการมาของสามกษัตริย์ แต่ศิลาจารึกเป็นแค่ข้อความ เป็นการสื่อสารหนึ่ง ซึ่งจะถูกจะผิดก็เกิดขึ้นได้ และที่น่าสนใจเรื่องของสามกษัตริย์ตอนนั้นคงจะแพร่หลายกันทั่ว เพราะก่อนหน้านั้นพระรัตนปัญญาเถระได้เขียนชินกาลมาลีปกรณ์ ก่อนหน้าที่จะมีการทำจารึกหลักนี้ 53 ปี ข้อความคล้ายกัน แต่มีการขยายข้อความมากขึ้น
📍 ไม่มีหลักฐานแวดล้อม ที่บอกว่าสุโขทัยสร้างอิทธิพลต่อล้านนาในสมัยพญามังราย
สมฤทธิ์พาผู้ชมไปต่อถึงประเด็นหลักฐานแวดล้อม ซึ่งจะมายืนยันเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในจารึกว่าเป็นจริงหรือไม่ คือเรื่องของศิลปกรรม ภาษา ศาสนา อาจะช่วยศึกษาว่าในสมัยของพญามังรายมีอิทธิพลของสุโขทัยเข้ามาจริงไหม
ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ของพญามังรายกับพระร่วง ถ้าเป็นจริง น่าสนใจว่าเหตุใดหลักฐานของสุโขทัยไม่เคยปรากฏ ไม่เคยบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์นี้ไว้เลย ถ้าพระร่วงต้องเดินทางมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่กับพญามังราย ทำไมศิลาจารึก เอกสาร หรือหลักฐานอื่นๆ ในสุโขทัยไม่เคยบันทึกเรื่องนี้มาก่อน
ประเด็นที่สอง ถ้าความสัมพันธ์ของพระร่วงกับพญามังรายเป็นจริง จารึกหลักที่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่าเขียนขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง และเชื่อว่าพระร่วงที่ปรากฏในหลักฐานที่เชื่อกันว่ามาสร้างเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพญามังรายคือคนเดียวกัน จารึกหลักที่หนึ่งควรจะมีหลักฐานอะไรยืนยันหรือกล่าวถึงเรื่องราวการมาสร้างเมืองเชียงใหม่ หรือแม้แต่เอ่ยถึงเมืองเชียงใหม่บ้าง
แต่ปรากฏว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่งไม่มีกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ โดยในตอนหนึ่งได้เล่าถึงบ้านเมืองทั้งสี่ทิศของสุโขทัย โดยเฉพาะมากล่าวถึงทิศตีนนอนหรือทิศเหนือ จารึกกล่าวว่า “ทิศตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน… เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว” ก็คือพูดถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองปัว เมืองชวาก็คือเมืองเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง ไม่พูดถึงเมืองเชียงใหม่
ถ้าความสัมพันธ์ขนาดพระร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง เป็นมิตรกับพญามังรายขนาดต้องเสด็จมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ชื่อเมืองเชียงใหม่ยังไม่ปรากฏอยู่ในหลักฐานศิลาจารึกหลักนี้ ต่อให้หลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงก็ไม่ปรากฏชื่อเชียงใหม่ มีปรากฏชื่อพะเยา หรือลำพูน อย่างเช่นจารึกหลักที่สองของวัดศรีชุม ก็ไม่พูดถึงเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงจารึกของพญาลิไทซึ่งมีหลายหลักก็ไม่ได้กล่าวถึง
ยังมีเอกสารฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับเชียงใหม่ ก็คือ “พงศาวดารเหนือ” ตอนที่เล่าตำนานพระร่วงเมืองศรีสัชนาลัย ว่าเป็นลูกของนางนาค พ่อนั้นเป็นกษัตริย์จากหริภุญชัย พระร่วงมีน้องชื่อพระลือซึ่งได้มาเป็นลูกเขยของเมืองเชียงใหม่ อันนี้จะเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับสุโขทัยที่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ แต่อย่าลืมว่าพงศาวดารได้มีการชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 เรื่องพระร่วงพระลือก็อาจจะเล่าลือกันมาในที่สุด ก็ผูกเรื่องให้กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ จึงยังเป็นเอกสารที่ไม่มีน้ำหนักพอ
ที่สำคัญพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยในปี พ.ศ. 1826 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนพญามังรายสร้างเชียงใหม่ 13 ปี ถ้าพญามังรายกับพระร่วงเป็นสหายกัน เป็นกัลยาณมิตรที่แนบแน่นกันขนาดนี้ อักษรสุโขทัยก็ควรจะมาถึงเชียงใหม่ล้านนา แต่ปรากฏว่ากว่าอิทธิพลตัวอักษรสุโขทัยจะมาสู่ล้านนาก็เมื่อหลังจากปี พ.ศ. 1914 เมื่อพระสมุนเถระเอาพุทธศาสนารามัญวงศ์จากสุโขทัยมาล้านนา
ฉะนั้นที่บอกถึงความสัมพันธ์ตามที่เชื่อกันว่าพญามังรายกับพระร่วงเป็นมิตรกัน ไม่ปรากฏมีหลักฐานอื่นรองรับโดยเฉพาะเรื่องตัวอักษรก็ไม่รองรับ อักษรล้านนาเมื่อพญามังรายตีหริภุญชัยที่เป็นมอญได้ ล้านนาประดิษฐ์อักษรตัวเองโดยอาศัยตัวอักษรมอญ ถ้าคิดว่าพระร่วงกับพญามังรายเป็นมิตรกัน จะประดิษฐ์ทำไม ก็ไปเอาอักษรสุโขทัยมาใช้ไม่ดีกว่าหรือ เพราะตระกูลภาษาเดียวกันมันง่ายกว่า เป็นหลักฐานยืนยันว่าความสัมพันธ์นี้ไม่เป็นจริง
สุดท้ายเรามาดูในแง่ของศิลปกรรม ในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยของพญามังรายมีอิทธิพลของสุโขทัยมาถึงล้านนา มาถึงเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปกรรม ตัวอักษร ศาสนา ล้วนมาในสมัยพญากือนา คือหลังจากพระสุมนเถระนำสิ่งเหล่านี้จากสุโขทัยขึ้นมา หลังจากปี พ.ศ. 1914 ไม่ใช่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 ปีที่สร้างเชียงใหม่
📍 ผังเมืองเชียงใหม่ไม่จำเป็นต้องมาจากสุโขทัย และพญามังรายกับพญางำเมืองก็อาจไม่ได้เป็นมิตรกัน
อีกประเด็นหนึ่ง คือฝ่ายที่สนับสนุนว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ จะยกเรื่องของผังเมืองเชียงใหม่มายืนยัน ผังเมืองเชียงใหม่เป็นลักษณะของสี่เหลี่ยมคล้ายกับผังเมืองสุโขทัย ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าเป็นอิทธิพลของสุโขทัย อิทธิพลของพระร่วง ทำให้พญามังรายสร้างเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่ประเด็นก็คือผังเมืองเชียงใหม่ที่เป็นสี่เหลี่ยม 1. สร้างมาตั้งแต่สมัยพญามังรายจริงหรือ 2. ผังเมืองอย่างนี้เป็นอิทธิพลของสุโขทัยจริงหรือ
ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ขยายกว้างขึ้นไป จะเห็นว่าเมืองพระนครของอาณาจักรขอม ก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม เมืองพุกามอาณาจักรของพม่าก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม เมืองจีนก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม ฉะนั้นจะไปอ้างว่าเป็นเรื่องของสุโขทัยอย่างเดียวได้หรือ ที่สำคัญ เอกสารที่อ้างกันว่าสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ แล้วเอาเรื่องผังเมืองมาสนับสนุน มันขัดแย้งกัน เพราะในเอกสารนั้นบอกว่าการสร้างเมืองเชียงใหม่ สามกษัตริย์มาแนะนำเรื่องของขนาดเมือง พญามังรายอยากสร้างใหญ่ แต่พญางำเมืองกับพระร่วงเสนอให้สร้างเล็กลงมา เอกสารไม่ได้พูดถึงผังเมืองเลย
ในเรื่องความสัมพันธ์ของพญามังรายกับพญางำเมือง ตำนานพื้นเมืองพะเยาได้กล่าวว่า “…ส่วนว่าเมืองพยาวก็ได้เป็นมิตรไมตรี กับด้วยเมืองเงินยางคือว่าเมืองเชียงแสน แต่เช่นขุนชื่นมาแลขุนจอมธัมม์สืบสายกันมา มาต่อเท้ารอดมังรายกับงำเมือง ย่อมเป็นมิตรไมตรีกันบ่ขาดแล…” เอกสารบอกว่าพญามังรายกับงำเมืองเป็นมิตรต่อกัน ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของมิตรสัมพันธ์ที่สืบกันมาตั้งแต่บรรพชน
ในแง่ของตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกลับกล่าวว่า พญามังรายนั้นเมื่อได้ครองเมืองแทนพ่อแล้ว พญามังรายก็เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลด้วยการไปตีเมืองต่างๆ ส่วนหนึ่งก็คือไปตี “…เมืองเธริง ลอ เมืองพราน เมืองน่าน เมืองหลวง(พระบาง) สิ่งเดียวแล…” ยังกล่าวอีกว่า “…แม้ว่าพระญางามเมือง (งำเมือง) ผู้กินเมืองพระยาว พระญาสองตนนี้ ก็เป็นสหายกันแต่เช่นปู่มาแล ต่อเท้ามารอดพระญามังรายนี้ก็เป็นสหายกันแล แม้นว่าพระญางามเมือง คือพระยาว ก็มาพร้อมกับด้วยพระญามังรายแล…” ข้อความนี้หมายความว่าเมืองที่พญามังรายไปตีมาขึ้นตรงต่อเมืองเชียงราย ขึ้นตรงต่อพญามังราย รวมถึงพญางำเมืองพะเยาด้วย คำถามคือความเป็นมิตรทำไมต้องให้มาเป็นเมืองขึ้น
ส่วนในตำนานสิบห้าราชวงศ์และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวเพิ่มว่า พญามังรายพอตั้งเชียงรายได้เสร็จก็ไปตีเมืองในอาณัติของพะเยา แล้วสองเมืองนี้รบกันแล้ว แต่ว่าในที่สุดก็แยกกัน ด้วยอ้างว่าทั้งสองนั้นไม่เคยมีเวรต่อกันมาแต่อดีตชาติ ถ้าเป็นนิทานก็ฟังพอจะมีเหตุผล แต่ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์ จริงหรือที่เมื่อไปยึดดินแดนของหนึ่งแล้วในที่สุดก็ได้ดินแดนไป สิ่งที่ตามมาคือกษัตริย์ทั้งคู่จะมาเป็นมิตรกัน ไปยึดเอาดินแดนเขามาได้ แล้วปรากฏว่าจบลงด้วยการเป็นมิตรกัน มันจะเป็นเช่นนั้นหรือ หลังจากนั้นจะเห็นว่าพญางำเมืองดูมีสถานะที่ไม่ใช่เป็นมิตร เพราะเป็นมิตรมันต้องเท่ากัน
ในเอกสารล้านนา ยังบอกว่าหลังจากที่พญางำเมืองมาร่วมพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็อยู่ที่เชียงใหม่เนี่ยไม่ได้กลับบ้าน พญามังรายหาเมียใหม่ให้พญางำเมือง เป็นเหตุให้ชายาของพญางำเมืองไม่พอใจ ยกทัพมาแล้วก็จะมาฆ่าชู้รักคนใหม่ของพญางำเมือง แต่ว่าระหว่างทางมาอกแตกตาย เรื่องฟังดูแล้วมันก็สนุกดี แต่มันสะท้อนว่าสถานะของพญาเมืองนั้นจริงหรือที่ว่าเป็นมิตรกับพญามังราย ในที่สุดเรื่องที่พญามังรายขยายอาณาเขตไปในดินแดนพะเยา เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ท่านได้เมืองเชียงราย ตั้งเมืองหิรัญนครเงินยางแล้ว หลังจากนั้นดูเหมือนว่าจะต้องการเมืองพะเยา และมาสำเร็จในสมัยทายาทคือพญาคำฟู
พญามังรายกับพญางำเมืองอาจจะเป็นมิตรได้ เพราะว่าเป็นรัฐเครือญาติ แต่หลักฐานที่ยกมาทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าพะเยาจะเป็นฐานะที่อยู่ในอันดับรอง ไม่ได้เป็นมิตรกัน ถ้าเป็นมิตรต้องเสมอกัน
📍 สามกษัตริย์ร่วมต้านทัพมองโกล เรื่องเล่าสนุกที่ไม่น่าเป็นข้อเท็จจริง
สมฤทธิ์ชี้ถึงประเด็นต่อมาว่า เรื่องความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์จะมาเป็นมิตรหรือร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ในเอกสารที่เขียนในยุคหลัง นักวิชาการส่วนใหญ่จะยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้ แล้วก็ตีความความสัมพันธ์นี้ ยอมรับว่าความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์นั้นมีจริง ตีความหมายว่าในเอกสารดั้งเดิมนั้นเขาไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลที่ซ่อนอยู่หรือว่าเหตุผลลึกๆ นักวิชาการในรุ่นปัจจุบันนี้ก็ตีความใหม่ว่าการที่สามกษัตริย์มาสร้างความสัมพันธ์กันเพื่อต้านทัพมองโกล
ถ้าเราขยายการศึกษาประวัติศาสตร์กว้างออกไป ในช่วงการสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. 1839 ก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ใหญ่ พ.ศ. 1830 กองทัพมองโกลของราชวงศ์หยวน กุบไลข่านยกมายึดยูนนาน หลังจากนั้นปีพ.ศ. 1835 กองทัพมองโกลบุกไปตีพุกามแตก อาณาจักรพม่าที่ยิ่งใหญ่มากๆ พังพินาศเพราะฝีมือกองทัพมองโกล หลังจากนั้น 4 ปี พญามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วก็บังเอิญในชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าสามกษัตริย์มาประชุมเป็นมิตรกันในปี พ.ศ. 1830 ซึ่งตรงกับปีที่กองทัพมองโกลบุกมาตียูนนาน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้กับอาณาจักรล้านนา เป็นที่มาที่ให้นักวิชาการในยุคปัจจุบันตีความว่าสามกษัตริย์มารวมกันเพื่อจะต้านทัพมองโกล
ในเอกสารฝ่ายจีน พงศาวดารราชวงศ์หยวน บันทึกว่าในปี พ.ศ. 1835 กุบไลข่านสั่งกองทัพบุกไปตี “ปาไป่สีฟู่” ซึ่งเราเชื่อมาตลอดว่าคือเมืองเชียงใหม่ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ปี พ.ศ. 1835 เชียงใหม่ยังไม่เกิด ประเด็นนี้คือความเข้าใจผิด คำว่า “ปาไป่สีฟู่” หมายถึงกลุ่มชนชาติที่พูดภาษาตระกูลไตไทที่อยู่ใต้จีนทั้งหมด มองเป็นกลุ่มเดียวกัน “ปาไป่ซีฟู” จึงน่าจะหมายถึงอาณาจักรไทใหญ่ มากกว่าที่จะหมายถึงอาณาจักรโยนก-เชียงใหม่
ทั้งหมดเป็นที่มาว่า กองทัพมองโกลจะบุกล้านนา สามกษัตริย์ต้องมาร่วมมือกัน ถ้าเรามองจากสถานการณ์แวดล้อมก็ดูจะสมเหตุสมผล แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าระยะยาวและเชิงลึก สามแคว้นนี้ไม่คณามือกองทัพมองโกล การร่วมมือกันนั้นไม่มีทางต้านทัพมองโกล แสดงว่าสามกษัตริย์สามแคว้นไม่รู้จักกองทัพมองโกล อาณาจักรพุกามที่ยิ่งใหญ่ตอนนั้นยังพังด้วยกองทัพมองโกล และปี 1839 ราชวงศ์หยวนส่งทูตไปเมืองพระนคร อาณาจักรเมืองพระนครที่ยิ่งใหญ่ยังไม่ใช้การศึกเลย แต่ใช้การทูต
ฉะนั้นถ้าราชวงศ์หยวนของกุบไลข่าน ต้องการแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนี้ เขาไม่ยกทัพมา เขาใช้การทูต การศึกจะใช้กับอาณาจักรที่พอที่จะสู้กันได้และไม่ยอมกองทัพมองโกล เพราะฉะนั้นสามกษัตริย์ที่ร่วมกันเพื่อจะต้านทัพมองโกล จึงเป็นเรื่องนิทานเล่าสนุกๆ เป็นไปไม่ได้ และราชวงศ์หยวน ถ้าคิดจะยึดสามแคว้น เขาใช้ทูตไม่กี่คนมาเจรจา แค่นั้นเขาก็คุ้มแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการต้านทัพมองโกลจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักเลย
📍 “เมืองเชียงใหม่เป็นของพญามังราย สร้างโดยพญามังราย เพื่อพญามังราย”
ในช่วงท้ายของสารคดี สมฤทธิ์สรุปว่า เมื่อตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าในแง่ของเอกสารตั้งแต่ ตำนานมูลศาสนา พื้นเมืองเชียงแสน พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน ไม่ได้พูดถึงเรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเชียงใหม่ เอกสารอีกชิ้นคือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุไว้ชัดเจนว่าเขียนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2071 ได้เขียนเรื่องของสามกษัตริย์มาเจอกัน แล้วมาเป็นมิตรกันก็เท่านั้น แต่ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่
เรื่องราวของสามกษัตริย์มาสร้างเมืองเชียงใหม่มาปรากฏในเอกสารที่มีการคัดลอกกันในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เอกสารเหล่านี้จะรู้จักในนามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือตำนานสิบห้าราชวงศ์ ซึ่งเอกสารเหล่านี้ได้เขียนข้อมูลอย่างละเอียดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ จะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่มูลศาสนาเรื่อยมา จนถึงเอกสารที่ชื่อว่าตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ข้อมูลเรื่องสามกษัตริย์จากไม่มีเลย เริ่มเป็นมิตรกัน และในที่สุดก็มาสร้างเมืองเชียงใหม่ เห็นได้ว่าข้อมูลมีการขยายเพิ่มเติมมากขึ้น นี่คือหลักฐานทางด้านเอกสาร ซึ่งต้องตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารเหล่านี้ทำไมข้อมูลถึงขยายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่มีการคัดลอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ส่วนหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก ซึ่งจะเชื่อได้ไม่ได้ยังต้องมีการตรวจสอบ แล้วจารึกวัดเชียงมั่นก็นำเอาข้อความที่ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเขียนก่อนหน้านั้น 53 ปี และในยุคนั้นคนก็ต้องพูดกันถึงเรื่องของสามกษัตริย์ เอามาก็เท่านั้น ส่วนในหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอิทธิพลของสุโขทัยอยู่ในสมัยพญามังรายเลย
ทั้งหมดจึงสรุปได้ว่าเรื่องราวของสามกษัตริย์มาสร้างเมืองเชียงใหม่ หลายคนแย้งว่าไม่ได้มาสร้าง แต่มาแสดงความคิดเห็น จะมายังไงก็ตาม ไม่มีน้ำหนักเลยว่าพญางำเมือง พระร่วง จะมาในวันสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ “เมืองเชียงใหม่เป็นของพญามังราย สร้างโดยพญามังราย เพื่อพญามังราย”
#lanner
#ประวัติศาสตร์นอกตำรา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...