07/08/2022
7 สิงหาคม ของทุกปี นักเรียนกฎหมายและคนที่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายทุกคนน่าจะรู้ดีว่าวันนี้คือ”วันรพี” วันของการน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ต่อวงการกฎหมายไทย เราจะไม่ขอลงรายละเอียดเพิ่มเติม แต่อยากชวนกันมามองให้เห็นว่าแล้วในปัจจุบัน ตอนนี้ วินาทีนี้ กฎหมายที่บังคับใช้กันอยู่เป็นยังไง กระบวนการยุติธรรมมันยุติธรรมจริงๆ หรือเปล่า Lanner ชวนคุยกับ วัชรภัทร ธรรมจักร หรือ “มิว” นักเรียนกฎหมายจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มเรียนกฎหมายลากยาวมาจนถึงการบังคับใช้กฎหมายของศาลในปัจจุบัน และอนาคตนิดๆ หน่อยๆ
.
ทำไมถึงเลือกเรียนกฎหมาย
วัชรภัทร : ตอนเด็ก ๆ ผมอยากเรียนกฎหมายเพื่อเป็น “ท่าน” อัยการหรือผู้พิพากษาเพื่อยกระดับฐานะของตัวเองและครอบครัว แต่พอได้โตขึ้น ได้เห็นสภาพความเป็นจริง เห็นปัญหาความเลื่อมล้ำของสังคม ความไม่เป็นธรรมและความลักลั่นหลายๆ อย่าง รวมถึงปัญหาเชิงระบบโดยเฉพาะในสายงานระบบกระบวนการยุติธรรมที่ผมเคยวาดฝันไว้ ทำให้ผมทบทวนและตอบตัวเองได้ว่า เราคงไม่เหมาะกับที่ตรงนั้น ไม่ว่าเราจะเก่งหรือมีคุณธรรมแค่ไหน เราก็อาจต้องโดน “ระบบกลืนความเป็นตัวเราไป” มากไปกว่านั้นอาจถูก “กลืนความเป็นมนุษย์” ที่มีมโนสำนึกก็เป็นได้ ดังจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการออกมาเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่
.
หลังจากเริ่มเรียนกฎหมายแล้ว คิดว่ากฎหมายไทยมีความย้อนแย้งมากไหม
วัชรภัทร : แน่นอนครับ กระบวนการยุติธรรมไทยย้อนแย้งสุด ๆ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น เราจะเห็นได้ชัดในคดีทางการเมืองซึ่งเป็นคดีอาญา ความไม่ตรงไปตรงมาบนหลักการของกฎหมาย เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นตำรวจจนไปถึงปลายสาย คือ กรมราชทัณฑ์ สิ่งที่เราร่ำเรียนกันมาอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ และที่น่าเสียใจไปกว่านั้น บางครั้งผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนั้นกลับเป็น อาจารย์แนวหน้าทางด้านกฎหมายของประเทศ เป็นผู้ที่เขียนหนังสือตำราที่เราพร่ำเรียนอยู่ทุกวันนี้เสียเอง
.
คิดเห็นยังไงกับการบังคับใช้กฎหมายของศาลในปัจจุบัน
วัชรภัทร : ถ้าให้ผมมองเข้าไปถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในตอนนี้ จริง ๆ แล้วเกิดจาก “อำนาจตุลาการที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน” กล่าวคือ ปัญหาต่าง ๆ ภายในศาลจะถูกจัดการและตรวจสอบผ่าน องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 องค์กร คือ
1. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ)
2. คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
3. คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)
ซึ่งประชาชนแทบไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชิงอำนาจกับศาลเลยในสมการนี้ ความห่างกันนี้อาจทำให้สังคมไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปในศาลได้ และในทางเดียวกันศาลเองก็ไม่สามารถมองเห็นบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ปัญหาต่อมาคือเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการตีความและการวางบรรทัดฐานกฎหมายเกิดจากคำพิพากษาของศาล ถึงแม้ว่าประเทศเราจะใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ที่อิงตามตัวบทก็ตาม กฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรในบางครั้งก็ให้ความหมายไว้อย่างกว้างจนเกิด ”ช่องว่าง” (ซึ่งนักกฎหมายมักจะไม่ค่อยยอมรับคำว่า ช่องว่าง นี้เสียเท่าไหร่ เนื่องจากมันสามารถอธิบายได้เสมอ) หากว่าศาลตีความและให้ความหมายกฎหมาย โดยไม่มองบริบทของสังคม บวกกับประชาชนก็ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาล รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การวินิจฉัยของศาลอย่างตรงไปตรงมาบนหลักการได้อย่างเต็มที่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจอีกหลายอย่างที่อาจมาเกี่ยวข้องแทรกแซง ตั้งแต่แรกเริ่มกระบวนการ ก่อนจะมาถึงมือศาล(หรือแม้นแต่ในศาลเอง)ซึ่งประชาชนไม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ จนทำให้ผมมองว่า ในสามอำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็น อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการนั้น “ อำนาจตุลาการเป็นพื้นที่ที่มืดที่สุด เท่าที่ประชาชนจะมองเข้าไปได้ ”
.
ในฐานะที่จะต้องทำงานที่เกี่ยวกับกฎหมายในอนาคต มองภาพตัวเองไว้ยังไงบ้าง หรือมองเห็นสังคมในอนาคตเป็นยังไง
วัชรภัทร : ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการยุติธรรมจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของคนที่อยู่ในวงการกฎหมาย วิธีและกระบวนการที่เป็นธรรมซึ่งยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น หรืออาจจะไม่ได้มีอะไรดีขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ และมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา คือ “ความคิดของคนในสังคม” เพราะในความเป็นจริง ต่อให้คุณไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ ไม่จบเนติบัณฑิต ไม่ได้เป็นทนาย หรือไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ทางกฎหมายเลย คุณจะรู้โดย ”สามัญสำนึก” ได้ว่า สิ่งนี้ยุติธรรมสิ่งนั้นไม่ยุติธรรม
เรื่อง : ปรัชญา ไชยแก้ว
#กฎหมาย
#กระบวนการยุติธรรม
#Lanner
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ