05/08/2022
ให้มันจบที่รุ่นเรา: คุยกับ ‘ชัยพงษ์ สำเนียง’ มองหลังแลหน้าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในภาคเหนือ
นับจากปี 2563 ถือได้ว่าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หลายปรากฏการณ์เปิดฉากการดันเพดานที่มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ขยับขยายไปพูดถึงอำนาจที่เหนือกว่า นำพามาซึ่งจิตสำนึกในสังคมวงกว้าง ที่ทำให้สังคมไทยไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
Lanner พูดคุยกับชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในทีมวิจัยจากโครงการวิจัย “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย (“Let’s Finish It in Our Generation.”: Thai Youth Movements in Contemporary Socio-political Contexts) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ร่วมมองการเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ในทศวรรษที่ 2560 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งชัยพงษ์ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พร้อมกันกับมองไปข้างหน้าว่า “การจบที่รุ่นเรา” จะดำเนินต่อไปอย่างไร
ที่มาที่ไปในงานวิจัยครั้งนี้ เริ่มต้นศึกษาได้ยังไง โจทก์การวิจัยคืออะไร?
ชัยพงษ์ สำเนียง : ตอบได้เป็นส่วนๆ เลยคือ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงของขบวนการนิสิตนักศึกษา ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ถ้านับหมุดหมายก็คือการเลือกตั้ง แล้วก็มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ มันเหมือนหรือแตกต่างจากขบวนการอื่นๆ ยังไง
สอง กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นำมาสู่การเปลี่ยนมโนทัศน์เรื่องขบวนการเคลื่อนไหวยังไง แล้วคนรุ่นใหม่ที่ออกมา เชื่อมโยง ผูกพันกันยังไง ประเด็น-ข้อถกเถียงส่วนใหญ่พยายามที่จะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นขบวนการแห่งยุคสมัยที่สำคัญ ที่ไม่ได้เหมือนกับขบวนการก่อนหน้านั้น เราจะเห็นได้ว่าขบวนการพฤษภา 35 หรือช่วง 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หลายประเด็นขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกับขบวนการสมัยก่อนหน้านี้ อย่างประเด็นข้อเสนอต่างๆ นานา เช่นข้อเสนอ 3 ข้อ ตั้งแต่เยาวชนปลดแอก 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ปัญหาคือเราเข้าใจเขามากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งคือเรายังไม่เข้าใจว่าขบวนการนิสิตนักศึกษา ยังมีงานที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้จำนวนไม่มากนัก อาจจะมีงานของอาจารย์บางท่าน แต่ทว่าในภาพรวมทั้งหมด เราไม่เข้าใจมากนัก คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ยังไง เกาะเกี่ยวกันแบบไหน
นักสังคมศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่ร่วมกันในงานวิจัยนี้ เราพยายามที่จะเข้าใจว่าคนเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมาได้ยังไง แต่ว่าสิ่งหนึ่งคือไม่เข้าใจอะไรเลย เราก็อายุห่างจากน้องๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวพอสมควร แต่พอทำไปทำมารู้สึกว่าเราก็ไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนิสิตนักศึกษาหรือว่าประชาชนที่เคลื่อนไหวในช่วง 3-4 ปี แสดงว่ามันเหมือนจะแยกขาดกับคนในสังคม แต่ที่จริงก็ไม่ได้แยกขาดซะทีเดียว
สาม คือเราจะเห็นว่าขบวนการนักศึกษาในปัจจุบัน มีการเชื่อมต่อที่แตกต่างจากขบวนการในอดีต เช่น Facebook, Twitter, Instagram, Telegram มันเชื่อมผู้คนมากขึ้น ขบวนการในปัจจุบันเชื่อมกันจริงๆ คืออุดมการณ์หรือความคาดหวังในชีวิตที่มันสัมพันธ์กันต่างหาก แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือคนเรามันมีอะไรร่วมกันอยู่แล้ว คำถามแรกๆ ที่เราตั้งขึ้นมา คือเชื่อมกันได้ยังไง ต่างจากอดีตยังไง ในแง่การสื่อสารนั้น มันต่างจากอดีตเยอะพอสมควรในแง่ของการเคลื่อนไหว
อีกประการหนึ่งทำไมถึงต้องศึกษาขบวนการนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน คือขบวนการการเปลี่ยนแปลงมันมีพันธะที่แตกต่างกันไปในแต่ละขบวน ขบวนการทศวรรษ 2560 ก็มีการก่อตัวที่ต่างจากยุคสมัยก่อน การก่อตัวในครั้งนี้ก็มีพันธะอีกแบบหนึ่ง พันธะแบบนี้ผมเรียกว่า “พันธะแห่งยุคสมัย” เป็นการสร้างความเสมอภาค สร้างความเท่าเทียม ผมคิดว่ามันทะลุกรอบไปกว่าขบวนการในยุคก่อนๆ ด้วยซ้ำ
เราจะเห็นว่านิสิตนักศึกษาหรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกิดมาภายใต้สองสิ่งคือ หนึ่ง ความเจริญก้าวหน้าในแง่ของการสื่อสารติดต่อ ทั้งการเชื่อมโลกในลักษณะต่างๆ สอง กลับกัน เขาเหล่านั้นเกิดอยู่ภายใต้การรัฐประหาร เขาโตมากับรัฐบาลเผด็จการ ชั่วนาตาปี เด็กๆ ที่เกิดมานั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการตั้งแต่เด็กจนโต
มันจึงกลายเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องออกมาเรียกร้อง จะเห็นได้ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเป็นคนที่ต้องการ “อนาคตที่ดี” เราต้องการตอบคำถามแห่งยุคสมัยที่มันเกิดขึ้นนี้
การตอบคำถามแห่งยุคสมัย โครงการวิจัยนี้เลยต้องใช้นักวิชาการทั่วประเทศ?
ชัยพงษ์ สำเนียง : โครงการนี้ใช้นักวิชาการหลากหลายสาขา พยายามทำอย่างกว้างขวางกว่าโครงการอื่นๆ นอกจากจะเข้าใจความจำเพาะเจาะจงของคนที่เราเรียกว่า “คนรุ่นใหม่” แล้ว เรายังต้องการความจำเพาะเจาะจงในเรื่องบริบทของภูมิภาค
เราจะเห็นว่าโครงการของเรานั้นทำในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อที่จะเข้าใจความแตกต่าง เพราะตระหนักว่าแต่ละภูมิภาคมีการก่อตัวของคนกลุ่มต่างๆ นิสิตนักศึกษาก่อตัวขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขและวิกฤตที่ต่างกัน อย่างอีสาน เหนือ และใต้ ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว
โครงการนี้ก็เลยได้คำตอบที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้เรารู้บริบทแต่ละพื้นที่ ที่เกาะเกี่ยวกันถึงแม้มีลักษณะที่แตกต่างกัน มันอยู่ภายใต้เงื่อนไขบริบทและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปฎิเสธไม่ได้ว่าโครงการพยายามเข้าใจอะไรแบบนี้ด้วย นอกจากคำว่า “รุ่น” นอกจากคำว่า “พันธะแห่งยุคสมัย” แล้ว
สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือ เห็นข้อค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่มันน่าสนใจบ้าง
ชัยพงษ์ สำเนียง : ขบวนการเคลื่อนไหวอาจจะแผ่วลงบ้าง แต่มีความต่อเนื่อง เราจะเห็นว่าในส่วนกลางขบวนก็ลดน้อยลงจำนวนหนึ่ง แต่ว่าเราจะเห็นว่ากิจกรรมในภาคเหนือ เป็นกิจกรรมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ รณรงค์ต่างๆ นานา หลายๆ แบบ ผมว่าในภาคเหนือยังยืนระยะอยู่ได้ในเรื่องการเคลื่อนไหว
คำถามก็คือเพราะอะไรขบวนการเหล่านี้ในภาคเหนือยังยืนระยะอยู่ได้ สิ่งหนึ่งที่พอจะตอบได้อย่างเร็วๆ คือ หนึ่ง ในการเคลื่อนไหวของภาคเหนือ มีการเกาะเกี่ยวระหว่างคนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า และภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เราจะเห็นได้ว่าภาคเหนือ แม้แต่นิสิตนักศึกษาเป็นหัวขบวนการเคลื่อนไหวในช่วงหลังๆ แต่ก็ยังมีขบวนการเสื้อแดง ขบวนการดินน้ำป่า ภาคีอาจารย์นักวิชาการที่ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวด้วย อันนี้คือสิ่งที่ภาคเหนือสามารถยืนระยะได้
สอง อีกสิ่งที่เราเห็นก็คือ การเชื่อมต่อเหล่านี้ ไม่ได้เชื่อมต่อในฐานะที่เป็นการเคลื่อนไหวเฉพาะหน้า แต่ว่าเป็นการสัมพันธ์กันในเชิงอุดมการณ์ด้วย เราจะเห็นว่าพี่ๆ ที่เป็นคนที่ออกจากป่ามา เป็นนักศึกษาในอดีต ช่วง 6 ตุลา 14 ตุลา ก็มาสัมพันธ์กับนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน ในฐานะที่ให้ทิศทางในเชิงความคิด ทรัพยากร พื้นที่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยน จึงทำให้กิจกรรมในภาคเหนือไปต่อได้
อีกประการหนึ่ง ภาคเหนือมีประเด็นเฉพาะ การเคลื่อนไหวที่นอกจากรับข้อเสนอจากส่วนกลางแล้ว ก็ยังมีประเด็นเฉพาะ เช่น เรื่อง ดิน น้ำ ป่า ที่ไปสัมพันธ์กับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ มีการจัดรำลึกขบวนการชาวไร่ชาวนาในภาคเหนือ มีการจัดแสดงนิทรรศการ ที่ดึงผู้คนที่เคยต่อสู้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีนักศึกษาเข้าไปร่วม ไปเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการไล่รื้อบ้านในที่ดินวัดป่าแดง การประสานแนวนอนประสานแนวร่วมมากขึ้น
ขบวนการเคลื่อนไหวจึงกว้างมากขึ้นในแง่ของประเด็น ไม่ใช่เฉพาะประเด็นในหลักใจกลางกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่อยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการกระจายอำนาจ สิทธิเสรีภาพในทรัพยากร การปกครองตัวเองในท้องถิ่น กลายเป็นประเด็นที่นิสิตเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ฐานของนักศึกษาและฐานของประชาชนมา Match กัน
ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งโดยบรรยากาศของภาคเหนือ ในแง่ที่เป็นพื้นที่ที่มีการเรียกร้องในเรื่องของสิทธิเสรีภาพมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกบฏเงี้ยว ครูบาศรีวิชัย ไม่ค่อยมีกลุ่มต่อต้าน ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสามารถยืนระยะได้ เราจะเห็นว่าในภูมิภาคอื่น เช่น ภาคใต้ จะมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง ก็จะมีชาวบ้านมาขัดขวาง แต่ในภาคเหนือเท่าที่สัมภาษณ์และสังเกตมาก็จะมีน้อยมาก ไม่มีขบวนการแบบยกมาแล้วปะทะเลย ปิดล้อม ทำให้เวทีไปต่อไม่ได้
ในทางกลับกันคนในภาคเหนือกลับเป็นคนเสื้อแดงที่มาสนับสนุน อันนี้เลยทำให้เป็นจุดเด่นที่สำคัญ ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือแตกต่างจากภูมิภาคอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถยืนระยะในตอนนี้และต่อไปได้
แล้วในงานวิจัยนี้ได้สัมภาษณ์ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับขบวนการในภาคเหนือ
ชัยพงษ์ สำเนียง : งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่มากๆ ส่วนตัวผมที่ทำงานในภาคเหนือ ก็ได้ไปคุยตั้งแต่รุ่นคนเข้าป่าไปเป็นสหาย เรื่อยมาจนถึงนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน ตั้งแต่รุ่นมัธยมและมหาวิทยาลัย เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่หลากหลายมีสิ่งที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มันเชื่อมกันก็คือ “ความคิด” เท่าที่เห็นผมว่าขบวนการนี้มันไม่ได้เชื่อมแค่ตัวคนอย่างเดียว แต่มันเชื่อมด้วยวิธีคิดที่ฝังอยู่ในความคิดคน
แล้วเราจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน มีใครอยากกลับไปก่อน 2475 บ้าง แทบจะไม่มีและเป็นไปไม่ได้ โลกมันวิวัฒน์ไป และความคิดแบบนี้มันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ ก็จะคิดอะไรแบบนี้ต่อไป ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม โครงการนี้มันอาจจะชื่อว่า “ขอให้มันจบในรุ่นเรา” แต่มันอาจจะไม่ตอบในแง่ขบวนการ แต่ว่าในเชิง “ความคิด” เปลี่ยนไปอย่างยากที่จะกลับแล้ว ความคิดมันฝังอยู่ในตัวคนหลากหลายและกว้างกว่ารัฐแบบราชการจะจินตนาการถึง
ผมคิดว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2560 แตกต่างในเชิงพื้นที่จากขบวนการในช่วงก่อนหน้านี้ เราจะเห็นได้ว่าขบวนการในช่วงก่อน จะมีการเคลื่อนไหวกระจุกตัวอยู่แค่ส่วนกลาง มีในระดับภูมิภาคบ้าง แต่ถ้าไปดูในทศวรรษที่ 2560 ภาคเหนือเนี่ยหลายร้อยครั้ง ภาคอีสานหลายร้อยครั้ง ภาคใต้อาจจะน้อยกว่าที่อื่นๆ ขบวนการมันกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เกิดทุกจังหวัด ซึ่งเราไม่เคยเห็นขบวนการแบบนี้ในภาคประชาชนในสังคมไทย
ทำให้เห็นว่าขบวนการเหล่านี้ไปสู่มวลชนอย่างไพศาลมากกว่าขบวนการอื่นๆ ถึงแม้จะ “ไม่ชนะ” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ส่วนมากในโลกไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน “ชนะ” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว เพราะมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจ ที่เรามีกำลังอาวุธ แต่เราเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิด ซึ่งอันนี้มันเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนไปอย่างไพศาล อย่างที่ไม่เคยมีมาในสังคมไทย
ขบวนการในภาคประชาชนในทศวรรษที่ 2560 ยังมีข้อขัดแย้งหรือจุดที่ยังต่อไม่ติดอยู่หรือไม่
ชัยพงษ์ สำเนียง : ผมคิดว่าในขบวนการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนมันมีความคิดอันนี้ เช่น ความคิดเรื่องการจัดตั้ง ไม่จัดตั้ง เราก็คิดถึงในรุ่นพี่ๆ ก็จะบอกว่าให้เราไปยึดองค์กรอะไรต่างๆ นานา แต่ในปัจจุบันนิสิตนักศึกษาเขาไม่ได้คิดแบบนี้ เวลาอยากเคลื่อนไหว เขาก็จะเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นหรือว่าในเชิงขบวนการไปเลย อันนี้ก็จะเป็นในเรื่องของความเห็นต่างกันบ้าง แต่ท้ายที่สุดในความเห็นต่างมันก็ประสานกันได้
อีกประการหนึ่ง ข้อเรียกร้องบางข้อที่มันหมิ่นเหม่ เช่น ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ก็จะมีคนบอกว่ามันไกลไป เราควรแค่ที่จะเอาประยุทธ์ออกหรือรัฐบาลในชุดนี้ออก มันก็จะมีความเห็นต่างกันในเชิงข้อเรียกร้องและเชิงวิธีที่แตกต่างกันบ้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราก็ยังเห็นว่ามันยังไม่ถึงขั้นขัดแย้งจนถึงกับทำให้ขบวนการแตกสลาย ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่เป็นหัวหอกในการนำเขาสามารถเชื่อมต่อกันได้ อันนี้ก็แสดงให้เห็นภาพทำให้คนรุ่นก่อนยอมรับ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว
อันนี้เราก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างจนเป็นความขัดแย้งซะทีเดียว แต่ก็อาจจะมีความไม่พอใจเล็กๆ อย่างเช่น ประเด็นเรื่องการปราศรัย คำพูดที่อยากฟัง แต่ก็เป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ทำให้เสียรูปขบวน เพราะถ้าเรานึกถึงในเชิงความคิดมันมีร่วมกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการที่มันแตกสลายไปทั้งหมด มันแตกสลายเพราะความคิด มันไม่ได้แตกสลายเพราะรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบมันอาจจะต่างกัน แต่ความคิดมันไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่ายังไม่เห็นภาวะของความล่มมสลายและความขัดแย้งแตกต่างระยะไกล
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มศิลปิน คนทำงานศิลปะ แรงงานนอกระบบ และกลุ่มอื่นๆ เริ่มออกมาแหกกฎ ขนบเดิม ช่วยหนุนเสริมประเด็นให้การเคลื่อนไหวมีความแข็งแรงมากขึ้น มองเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง
ชัยพงษ์ สำเนียง : สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นก็คือตัวของศิลปินมันมีพลังที่จะสะท้อนสังคม Soft Power แสดงสิ่งที่มันพูดยากให้มันออกมาได้ ผมว่าสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือศิลปินต่างๆ นานา เมื่อก่อนอยู่ระบบอุปถัมภ์มากๆ เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นศิลปินที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในขนบเดิม มันไม่ได้มีแต่พื้นที่ศิลปะที่ support อำนาจรัฐ แต่ว่าคนที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ หรือคนที่เคลื่อนไหวในยุคหลังๆไม่ได้อยู่ในกรอบแบบนี้ บางคนทำงานที่ดีกว่าการปราศรัยหรือการพูดด้วยซ้ำ เพราะว่ามันแสดงในเชิงสัญญะให้คนตีความได้หลากหลายมากขึ้น
เราก็เห็นว่าเป็นทิศทางที่ก้าวหน้าสำหรับแวดวงศิลปะ เราไม่ค่อยเห็นศิลปินออกมาเคลื่อนไหวเท่าไหร่ ถ้าออกมาเคลื่อนไหวเราก็จะเห็นว่า กปปส. พันธมิตร แต่ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มันจะออกมาอีกแนวหนึ่ง เป็นการที่ออกมาพูดในสิ่งที่สังคมไม่พูดมากขึ้น
ไม่นับว่ากลุ่มที่เป็นชายขอบต่างๆ เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบต่างๆ เราจะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ถูกกระทำ แต่ว่าพอพื้นที่ทางการเมืองมันเปิดมากขึ้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนกลุ่มนี้พยายามส่งเสียงตัวเองออกมา มีตัวตน มีพื้นที่ในสังคมในทางการเมืองของการเคลื่อนไหว
ผมคิดว่ามันเป็นมิติที่ดี ที่คนกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น แม้ว่าผู้คนจะหันเหความสนใจจากขบวนการเคลื่อนไหวไปเป็นอย่างอื่นแล้ว แต่ก็มีการแสดงออกในพื้นที่อื่นมากขึ้น
จะเห็นว่าในสภาเป็นพื้นที่เปิดมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่ส่งเสียงของประชาชนได้มากขึ้น แต่ว่าเราก็จะเห็นกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว ก็ปรับตัวเป็นขบวนการต่าง ๆ เช่น ขบวนการทะลุฟ้า ขบวนการดาวดิน
แม้กระทั่งในภาคเหนือหลายๆ กลุ่ม ก็พยายามนำสิ่งที่ตัวเองคิดไปเสนอให้กับพรรคการเมือง พรรคการเมืองไหนที่รับข้อเสนอ ก็จะไปเป็น agent ในการที่จะหาเสียงให้ หาคะแนนให้ คือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นการไปข้างหน้าเรื่อยๆ
หากหลายคนคิดว่าขบวนการเคลื่อนไหวมันยุติลงไปแล้ว ผมคิดว่าเป็นการปรับรูปแบบ ปรับวิธีการ สร้างรูปแบบ ขยายองคาพยพของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง ถึงแม้ม็อบจะลดลงไป แต่ว่านักศึกษาที่มีความก้าวหน้าก็ไปยึดองค์กรในมหาวิทยาลัย เช่น สภานักศึกษา สโมสรนักศึกษา แล้วออกประกาศกฎ เช่น ไม่ต้องหมอบกราบ ในฐานะมนุษย์เท่ากัน หรือการยกเลิกโซตัส มันหมายความว่าขบวนการมันถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ในองคาพยพอื่น
ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ประเมินว่ามันประสบความสำเร็จนะ เมื่อก่อนองค์กรนักศึกษาเหล่านี้เป็นมือเป็นเท้าให้กับผู้บริหาร ซึ่งข้อนี้ก็ถือว่าเป็นความประสบความสำเร็จอย่างไพศาลเลย ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ประเมินสถานการณ์ต่อไปของขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือหรือระดับประเทศอย่างไรบ้าง
ชัยพงษ์ สำเนียง : ก็จะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ที่ฝ่ายรัฐทำก็คือการฝากคดีเยอะมาก เพื่อที่จะทำให้ขบวนการนักศึกษามันอ่อนตัวลง แต่ในทางกลับกัน ขบวนการเหล่านี้ก็ไปผลิดอกออกผลในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย สร้างคนรุ่นต่อๆ ไปขึ้นมา อาจจะไม่ได้สู้ในฐานะที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวแบบม็อบแล้ว แต่สู้ในปริมณฑลอื่นๆ หรือการเคลื่อนไหวในเชิงศิลปวัฒนธรรม ในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ยืนในโรงหนัง เราก็เห็นแล้วว่ามันขยายไปในพื้นที่ต่าง ๆ การพูดในสิ่งต้องห้าม ก็ถูกพูดมากขึ้น
ผมคิดว่าทิศทางที่เกิดขึ้นจะเป็นทิศทางหลัก แทนที่จะเป็นการจัดม็อบขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่เห็นในเร็ว ๆ นี้ หรืออาจจะมีก็ได้ หากมันมีวิกฤตอะไรบางอย่าง หรืออะไรบางอย่างที่ทำให้คนมันออกมา แต่ว่าเชิงขบวนการมันถูกเผยแพร่ ถูกเคลื่อนไหวภายใต้ปริมณฑลอื่นๆ เยอะแยะมากมาย และทิศทางเหล่านี้ก็จะเป็นทิศทางหลัก
ทิศทางที่ 2 ผมคิดว่าการที่ไปเสนอความคิด เสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเหล่านี้สามารถไปพูดในสภาได้ เป็นปากเป็นเสียง เราก็จะเห็นว่าเรื่องบางเรื่องที่ไม่เคยพูดในสภา ก็ถูกหยิบมาพูดมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่พูดมันไม่ได้เกิดขึ้นจาก ส.ส. และพรรคการเมืองพูดเอง แต่มันถูกพูดเพราะประชาชนก้าวหน้ากว่าพรรคการเมือง แล้วมันเป็นเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องมาพูด ไม่มีมวลชนเหรือไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ถามว่าพรรคการเมืองหรือ ส.ส. จะกล้าพูดไหม คิดว่าปริมณฑลแบบนี้หลายๆ กลุ่ม ก็พยายามเดินทางในเส้นนี้มากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นขาหนึ่งของการเคลื่อนไหว
แล้วพรรคการเมืองที่คิดว่ามันประสบความสำเร็จจริงๆ สามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ให้พูดได้ มันก็จะทำให้เรามีตัวแทนในสภามากขึ้น มันพูดในสองระดับได้ ก็คือข้างนอกมีมวลชนที่มีความคิดก้าวหน้า ในสภาก็มีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า นี่คือดอกผลของการเคลื่อนไหว เพราะเรื่องเหล่านี้ก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีการพูด แต่การเกิดขึ้นของม็อบมันจึงถูกพูดมากขึ้น หมายความว่าขบวนการเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้พรรคการเมืองกล้าพูดมากขึ้น เดินตามทิศทางนั้นมากขึ้น อันนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่อาจจะทำได้ในอนาคต และมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะพื้นที่ในถนนมันถูกปิด พื้นที่สภาก็ต้องเป็นพื้นที่เปิดมากขึ้น
อีกประการหนึ่ง ผมคิดว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาไม่ได้ยุติลงในแง่ของขบวนการเคลื่อนไหว เพราะผมเชื่อว่าพื้นที่สำคัญในการต่อสู้ไม่ใช่พื้นที่ในเชิง “ขบวนการ” อย่างเดียว มันคือการต่อสู้ในเชิง “ความคิด” ถ้าใช้คำของกรัมชี่ (อันโตนิโอ กรัมชี่ – นักทฤษฎีการเมืองชาวอิตาเลียน) เรียกว่า war of position การแย่งชิงความคิด แย่งชิงความหมายของเรื่องต่างๆ ผมคิดว่าขบวนการที่ผ่านมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มันกลับมาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า การแย่งชิงพื้นที่ความหมายของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เคยยึดครองมายาวนาน
ฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีการสร้างความหมาย สร้างพื้นที่อะไรต่างๆ นานาเหมือนกัน เช่น ไทยต่าง ๆ นักเรียนดี อะไรต่างๆ ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ผมไม่แน่ใจ ซึ่งเราก็เห็นว่ามันก็คือการแย่งชิงพื้นทางความคิดกันอยู่
วันนี้ผมคิดว่ามันต้องต่อสู้กันอีกยาวนาน เพราะจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม คือสังคมมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงภายในวันเดียว แม้ว่าเราจะบอกว่าวันนี้มีการแหกคุกที่ฝรั่งเศส แต่กว่าที่ฝรั่งเศสจะมีประชาธิปไตยในปัจจุบัน ฝรั่งเศสก็ผ่านมาหลายสาธารณรัฐเหมือนกัน สังคมไทยก็เหมือนกัน คือว่าการจะต่อสู้สถาปนาอำนาจประชาชนก็ใช้เวลายาวนาน ไม่ใช่ 3 วัน 7 วัน จบแต่ประการใด
งานวิจัยชิ้นนี้จะเผยแพร่เมื่อไหร่?
ชัยพงษ์ สำเนียง : เราจะเผยแพร่ช่วงเดือนสิงหาคมนะถ้าไม่ผิดพลาด ส่วนหนึ่งเราก็อยากให้เป็นหมุดหมายของยุคสมัย เพื่อที่จะบอกว่าขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงความหมายต่างๆ นานา
ในเชิงประวัติศาสตร์ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องของรัฐ ถกเถียงในเรื่องอำนาจของประชาชน เห็นว่านักสู้ต่างๆ มีทั้งคนที่เป็นตัวหลัก มีทั้งนักสู้นิรนาม มีทั้งลุงๆ ป้าๆ เข้ามาเชื่อมร้อย และคำว่า “รุ่น” ของเราเนี่ย มันไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่ว่ามันหมายถึงรุ่นคนที่เกิดและใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้ มันขยายความไปกว้างขวางขนาดนั้น รวมถึงอุดมการณ์ที่ร้อยรัดผู้คนเหล่านี้ นี่แหละคือความหมายของของ “รุ่น” ที่เราค้นพบ ไม่ใช่ “รุ่น” ในเชิงอายุอย่างเดียว
เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท
#ให้มันจบที่รุ่นเรา
#Lanner
บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )