ความน่าสนใจของผู้เขียนนั้น ก็มีความผูกพันกับอำเภอท่าปลาในฐานะของบ้านและถิ่นที่อยู่ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าค้นหาว่าที่มาที่ไปของอำเภอท่าปลานั้นร้อยเรื่อง ว่าราวอย่างไรบ้าง พร้อมกับการตั้งคำถามว่าวัฒนธรรมของที่อำเภอท่าปลาเองก็ยังคงอยู่ ไม่หายไปตามกาลเวลา มันเป็นเพราะอะไร?
อาจต้องย้อนกลับไปก่อนว่ากลุ่มบ้านท่าปลานั้นปรากฎขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในอดีตนั้น “ท่าปลา” คือชื่อของกลุ่มบ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ฝั่งน้ำทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการปกครอง จึงได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน และใช้ชื่อ “ท่าปลา” เป็นชื่อตำบล อำเภอในเวลาต่อมา ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2514 ตำบลท่าปลา แบ่งการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านบ่อแก้ว หมู่ที่ 2 บ้านหาดไก่ต้อย หมู่ที่ 3 บ้านท่าปลา หมู่ที่ 4 บ้านนาโปร่ง หมู่ที่ 5 บ้านล้องดินหม้อ หมู่ที่ 6 บ้านหัวนา หมู่ที่ 7 บ้านย่านดู่ หมู่ที่ 8 บ้านซำบ้อ และหมู่ที่ 9 บ้านห้วยสีเสียด
จากการค้นหาจากเอกสาร “อดีตแห่งความทรงจำของผู้เสียสละชาวอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์” ที่รวบรวมโดยนายจลอม พวนทอง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านดงงาม ตำบลจริม ได้ระบุว่า “ท่าปลา” หมายถึงสถานที่รอจับปลาพราะคำว่า “ท่า” ในภาษาถิ่นท่าปลานั้น หมายถึง รอหรือคอย ต่อมาเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัว จึงเรียกกลุ่มบ้านนี้ว่า “บ้านท่าปลา” ก่อนจะได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านท่าปลา ตำบลท่าปลา และอำเภอท่าปลาในเวลาต่อมา แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งนั้น เพราะยังคงมีองค์ประกอบของเรื่องเล่า ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ค้นหาอีกมาก
บ้านตาปลาสู่บ้านท่าปลา
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า-ผู้แก่ในพื้นที่อำเภอท่าปลาที่เล่าสืบต่อกันมาว่าชาวบ้านในตำบลทำปลาต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของหินแก้วสีมรกตขาวนวลคล้ายตาปลา ชาวบ้านท่าปลาเรียกแก้วชนิดนี้ว่า “แก้วตาปลา” จัดเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ถ้าผู้ใดเก็บไว้บูชาในครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น หรือถ้าพกติดตัวไว้จะเดินทางปลอดภัยแคล้วคลาดจากอันตรายต่าง ๆ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านตาปลา” เมื่อเวลาผ่านไปจากบ้านตาปลา จึงเพี้ยนเป็นบ้านท่าปลา โดยแก้วตาปลานี้จะอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านบ่อแก้ว โดยแก้วตาปลาจะมีอิทธิฤทธิ์หรือมีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดในวันพญาวัน (ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปี) ดังนั้นเมื่อถึงวันพญาวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ชาวท่าปลาจะไปร่วมพิธีสกัดเอาแก้วตาปลาขึ้นมาจากใต้น้ำ เพื่อเก็บไว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แก่ตนเองและเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว โดยเรียกพิธีนี้ว่า “ต้องแก้วตาปลา” มาจากเรื่องเล่าว่าเคยเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีตเมื่อครั้งที่ “เมืองท่าปลา” ขึ้นกับนครน่าน ขณะนั้นกองทัพพม่าได้ยกมาล้อมเมืองลำปางและหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงสั่งให้จัดกองทัพเพื่อยกไปตีกองทัพพม่าก่อนจะมาตั้งทัพอยู่ที่เมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าจะเคลื่อนทัพผ่าน กองทัพส่วนหนึ่งได้แยกมาตั้งในท้องที่เมืองท่าปลา โดยกองทัพฝ้ายไทยได้ขัดให้มีการตั้งกองทัพในพื้นที่เมืองท่าปลา 2 กองทัพ กองทัพหนึ่งตั้งอยู่ในป่า เรียกว่า “ทัพป่า” ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้านท่าปลา ที่เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทัพป่า” ส่วนอีกกองทัพหนึ่งเรียกว่า “ทัพหลวง” ตั้งอยู่เหนือบ้าน บ้านคือ ต่อมาเป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้าน “ทัพหลวง” เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลจริมอำเภอทำปลาในอดีต (สมจริง ตั้งใจจริง,เรื่องเล่าคนเหนือเขื่อน, หน้า89)
อย่างไรก็ตามแม้ที่มาของคำว่า “ท่าปลา” จากที่กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าแหล่งที่มาใดเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ต่างก็มีความน่าเชื่อถือเพราะมีหลักฐานยืนยันได้ คือ “ท่าปลา” ที่หมายถึง รอจับปลา นั้นในอดีตช่วงเดือนสาม(กุมภาพันธ์) ของทุกปี ชายชาวท่าปลาจะนำเครื่องมือจับปลาที่รียกว่า “แหป่อง” ไปรวมตัวกันที่แม่น้ำน่านบริเวณหาดผาด เพื่อรอจับปลายี่สกไทยหรือที่ชาวท่าปลาเรียกว่า “ปลาสะเอิน” ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่น้ำหนัก 30-50 กิโลกรัม ที่จับคู่ว่ายทวนน้ำจากวังน้ำลึก เพื่อขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่เรื่องความเชื่อที่เชื่อว่า “แก้วตาปลา” เป็นของศักดิ์สิทธิ์ของชาวท่าปลาที่มีอยู่จริงในแม่น้ำน่านบริเวณบ้านบ่อแก้ว หมู่บ้านในการปกครองของตำบลท่าปลา ส่วนที่มาเรื่องการตั้งทัพรบกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพพม่านั้นได้ปรากฎชื่อหมู่บ้าน “ท่าปลา” ที่เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทัพป่า” โดยมีหมู่บ้านทัพหลวงในการปกครองของตำบลจริมในอดีต เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่รองรับว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริง
ปฏิทินวัฒนธรรมคนท่าปลา
จากพื้นฐานความเชื่อและวิถีชีวิตของคนท่าปลา ที่ดำรงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทำให้ชาวท่าปลามีวัฒนธรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่สืบต่อกันมาแล้วหลายชั่วอายุคนเมื่อถึงวันพระหรือมีกิจกรรมทางพุทธศาสนา ชาวท่าปลาจะใช้เสียงกลองใหญ่ที่เรียกว่า “กลองปู่จา” ซึ่งแขวนอยู่ในหอกลองหรือ “โฮงก๋อง”จังหวะหนึ่งเป็นสัญญาณแจ้งเตือน อีกจังหวะหนึ่งตีหรือ “ลานกลอง” ต้อนรับคณะศรัทธาจากวัดอื่นที่มาร่วมทำบุญ นอกจากจะมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้วยังมีอีกหลายกิจกรรมแต่ต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่สื่อถึงความเป็นท่าปลา-ล้านนาได้เป็นอย่างดีสามารถจัดลำดับตามรอบปฏิทินตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปีได้ ดังนี้
1.การจับปลาสะเอิน ของชาวตำบลท่าปลาเกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเมื่อถึงช่วงเวลานี้ชายชาวตำบลท่าปลาจำนวนหนึ่งจะไปชุมนุมกันที่หาดผาดเหนือวันสงกรานต์พร้อมด้วยแหจับปลาผืนใหญ่กว่าปกติเรียกว่า
“แห่ป่อง”ที่สานขึ้นเป็นพิเศษจากเชือกป่านพร้อมด้วยเลือดควายเพื่อรอจับปลายี่สกไทยหรือชาวท่าปลาเรียกว่าปลา “สะเอิน” ซึ่งเป็นปลาเกล็ดขนาดใหญ่แต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 30-80 กิโลกรัมตั้งแต่เวลาประมาณ 21:00 น เป็นต้นไปตัวผู้กับตัวเมียจะจับคู่ไหว้ทวนน้ำขึ้นมาจากวังน้ำลึกเพื่อผสมพันธุ์กัน การจับปลาสะเอินนี้นอกจากจะได้ปลาสำหรับนำไปประกอบอาหารและแบ่งปันเพื่อให้เพื่อนบ้านแล้วยังถือเป็นการพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายชาวท่าปลาด้วยกล่าวคือหากชายชาวท่าปลาคนใดมีชื่อเป็นผู้พิชิตปลาสะเอินได้แล้วเขาผู้นั้นจะได้รับการยอมรับว่าเป็นลูกผู้ชายชาวท่าปลาอย่างแท้จริงเหมาะสมที่สาว ๆ ในหมู่บ้านจะเลือกเป็นผู้นำครอบครัวต่อไป
2.ประเพณีปีใหม่หรือสงกรานต์ คือประเพณีที่จัดขึ้นตามวันที่กำหนดไว้ในปฏิทินหรือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชาวอำเภอท่าปลาตามวิถีล้านนาประเพณีสงกรานต์เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวท่าปลาต่างให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นประเพณีที่มีองค์ประกอบครบทุกด้านคือการเริ่มต้นปีใหม่รับเอาสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชีวิตปัดเป่าขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ไปพร้อมกับปู่สังขารที่เชื่อกันว่าเดินทางล่องมาจากทางตอนเหนือในวันที่ 13 เมษายนหลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 เมษายนเรียกว่าวันสังขารล่องชายชาวท่าปลาจะตื่นขึ้นมาจุดประทัดจุดสะโปกยิงปืนหรืออุปกรณ์ใดๆที่ทำให้เกิดเสียงดังเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆวันรุ่งขึ้น 14 เมษายนเรียกว่าวันเนาหรือวันเน่าเป็นวันเสียห้ามทำการมงคลใดๆห้ามทะเลาะเบาะแว้งด่าทอกันหากใครฝ่าฝืนก็จะพบกับสิ่งที่เป็นอัปมงคลไปตลอดปีทั้งวันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทรายและเตรียมการทำขนมและสิ่งของต่าง ๆ ที่จะใช้ในการทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้นและในวันที่ 15 เมษายนหรือวันพญาวันถือเป็นเจ้าแห่งวันในรอบปีนั้นมีการส่งน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในชุมชนชายชาวท่าปลาที่ต้องการของศักดิ์สิทธิ์คาถาอาคมต่างๆจะถือเอาวันนี้เป็นวันที่รับเอาสิ่งเหล่านี้จากครูบาอาจารย์มาสู่ตนเองเรียกว่า “ป๋งครู” เพราะเชื่อว่าจะมีอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่นี้นอกจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วยังถือเป็นช่วงเวลารื่นเริงของชาวท่าปลามีการละเล่นหลายประเภทที่สร้างความสนุกสนานให้คนในชุมชนเช่นการเล่นสะบ้าเล่นมอญซ่อนผ้าเล่นลูกช่วงเล่นสาดน้ำมีการจัดกลุ่มตระเวนไปตามบ้านเพื่อนบ้านในชุมชนเพื่อดื่มเหล้าหรือน้ำขาวและร้องรำทำเพลง ค่าว จ๊อย กันอย่างสนุกสนานช่วงนี้แต่ละครัวเรือนจึงต้องเตรียมเหล้าน้ำขาวกับแกล้มประจำห้องครัวไว้สำหรับต้อนรับเพื่อนบ้านที่จับกลุ่มมาเยี่ยมบ้านตนซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมาเวลาใดกลางวันหรือกลางคืนตั้งแต่วันที่ 13-18 เมษายนในท้องที่อำเภอท่าปลาซึ่งเต็มไปด้วยสีสันมีเสียงเพลงคละเคล้ากับเสียงปรบมือเสียงกลองฉิ่งฉาบเสี่ยงช้อนเคาะถ้วยจานประกอบจังหวะมีเสียงเฮฮาโห่ฮิ้วตามลานบ้านกองเชียร์หรือผู้เล่นสะบ้าเมื่อตนเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรืออาจจะมีบางที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันของสมาชิกในชุมชนคุมสติไม่ได้ซึ่งอาจเกิดการดื่มเหล้าเกินขนาดหรือกินเหล้าหลงแป่ง-ผิดครูซึ่งอาจจะสำแดงออกมาด้วยท่าทางต่างๆตามของดีหรือคาถาอาคมที่ตนมีหรืออาจจะถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับคนในชุมชนหรือคนต่างถิ่นตามแบบฉบับของชายชาตรีมีของมีครูแต่ก็ไม่ทำให้คนในชุมชนเกิดความแตกแยกแต่ความสามัคคีกันแต่อย่างใด
3.การต้องแก้วท่าปลา เป็นประเพณีเฉพาะของชาวตำบลท่าปลาเกิดขึ้นทุกวันที่ 15 เมษายนหรือวันพญาวันซึ่งชาวตำบลท่าปลาเชื่อกันว่าเป็นวันที่แก้วท่าปลามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดวันนี้ของทุกปีชาวบ้านท่าปลาและเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะไปรวมตัวกันที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านบ้านบ่อแก้วเพื่อร่วมพิธีสกัดเอาหินแก้วท่าปลาขึ้นมาจากใต้น้ำแล้วแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมพิธีนำไปเป็นเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวหรือเก็บไว้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวเพราะต่างเชื่อว่าผู้ใดมีแก้วท่าปลาไว้ในครอบครองจะอยู่เย็นเป็นสุขทำมาค้าขึ้นด้านชาวบ้านผาเลือดจะถือเอาวันที่ 19 เมษายนของทุกปีทำพิธีสรงน้ำ “เจ้าปู่อาชญาหลวง” พร้อมบริวารซึ่งเป็นผีอาญาที่ชาวบ้านผาเลือดนับถือมากมีการเล่นดนตรีสะล้อซอซึงถวายเจ้าปู่และขับกล่อมผู้มาร่วมงานพร้อมทั้งอัญเชิญเจ้าปู่เข้ามาประทับร่าง “นางทรง” ชาวผาเลือดที่เข้าร่วมหรือเรียกว่า “ลูกข้าว-ลูกแป้ง” ก็จะถามไถ่เรื่องต่างๆเป็นปริมาณน้ำฝนประจำปีนั้นๆความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองทำให้เจ้าปู่และบริวารปกปักรักษาพวกตนให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการร่วมกันสรงน้ำพร้อมกับเปลี่ยนพวงมาลัยใหม่ที่ศาลเจ้าปู่ต่อไป
4.ประเพณีขึ้นธาตุ เกิดขึ้นกลางเดือนพฤษภาคมหรือทุกวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปีชาวตำบลท่าปลาและตำบลใกล้เคียงจะมาชุมนุมกันเพื่อส่งน้ำและจุดบอกไฟบูชาพระธาตุวัดตีนดอยที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงเหนือวัดตีนดอยขึ้นไปประมาณ 200 เมตรมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้องค์พระธาตุเกิดความชุ่มเย็นหลังจากตากแดดตากลมมาตลอดทั้งปีส่วนการจุดบอกไฟหรือจิบอกไฟนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้เทวดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ทราบว่าบัดนี้ย่างเข้าสู่ฤดูกาลเพราะปลูกพืชผลทางการเกษตรแล้วขอให้เทวดาประทานน้ำฝนลงมาบนโลกมนุษย์การจุดบอกไฟนั้นนอกจากวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นแล้วยังเป็นกิจกรรมการสร้างความสนุกสนานแก่ผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมากถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนเข้าฤดูการผลิตเข้าสู่งานไร่งานนาของชาวท่าปลาตามธรรมเนียมวันนี้จะอนุโลมให้มีการพูดหยอกล้อกันโดยมากเป็นคำหยาบผ่านคำเซิ้งบอกไฟโดยไม่มีความโกรธเกลียดกันซึ่งกันและกันยังถือเป็นการประชันฝีมือกันของช่างทำบอกไฟแต่ละบ้านโดยมีเกียรติและศักดิ์ศรีของแต่ละบ้านย่านนั้นเป็นเดิมพันเนื่องจากบอกไฟแต่ละบ้านจะมีสูตรลับเฉพาะตามตำราของบ้านนั้นๆเช่นตำราแม่หม่ายติ้วซิ่นตำราแหงนดูดาว ตำราช้างล่วงขอ เป็นต้น
5.ประเพณีการแห่ผีตลก – ผีขน เกิดขึ้นช่วงเทศกาลออกพรรษาคือช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ชาวท่าปลาเรียกสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายหัวโขนแต่งแต้มสีให้ดูน่าเกลียดน่ากลัวแตกต่างกัน โดยชาวตำบลท่าปลาเรียกว่า “หัวผีตลก” ส่วนชาวตำบลท่าแฝกและตำบลหาดล้าบางส่วน เรียกว่า “หัวผีขน” แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือเป็นประเพณีที่ชาวตำบลท่าปลาและตำบลหาดล้าบางส่วนถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานแล้ว โดยมีความเชื่อเกี่ยว กับนรก สวรรค์ การทำบุญทำทานตามพระพุทธศาสนาให้กับผีเปรต ผีนรก ที่หิวโหยต้องการอาหารยังชีพโดยการขอส่วนบุญจากมนุษย์ จนกว่าจะใช้หนี้กรรมหมดสิ้นเพื่อจะได้ไปเกิดในชาติภพใหม่ต่อไป
โดยผู้ชายที่จะสวมหัวผีตลกหรือผีขนนั้น จะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมสวมหัวผีในป่าช้าจึงจะสามารถร่วมขบวนแห่ได้ ส่วนดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกุ๊กต้นข่าที่แห่ไปนั้นก็เพื่อนำไปตกแต่งวิหาร ศาลาการเปรียญให้เสมือนป่าหิมพานต์ ระหว่างทางจะมีการตีฆ้อง ตีกลอง กระตุ้นให้เกิดความสนุกสนานครื้นเครงเชิญชวนชาวบ้านร่วมทำบุญบริจาคทาน วัตถุปัจจัยต่าง ประเพณีการแห่ผีตลก-ผีขนมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน แสดงให้พุทธศาสนิกชนเห็นว่าเมื่อทำชั่วแล้วจะไปเกิดเป็นผีเปรต ผีนรกหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวต้องเป็นทุกข์เที่ยวขอส่วนบุญส่วนกุศลกับชาวบ้าน เป็นการเตือนสติคนให้ละเวันความชั่ว ประกอบแต่ความดีนั่นเอง
6.ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีถวายทานสลากภัต จะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ช่วงเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ช่วงเดือนตุลาคม) เป็นประเพณีที่คนท่าปลาและคนล้านนาจะระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญด้วย “ก๋วยสลาก” โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
(1) ก๋วยน้อย คือ ภาชนะคล้ายชลอมขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว) สานด้วยตอกไม้ไผ่รองหรือถุ๊ด้วยใบตองพลวง (ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์) บรรจุน้ำ อาหารแห้ง (ข้าวสาร เกลือ พริก หอม กระเทียม ฯ) อาหารปรุงสุกจำพวกข้าวเหนียว ห่อหมก (ห่อนึ่ง) ปลาแห้ง เนื้อแห้ง ฯ ข้าวต้มมัดและผลไม้ตามฤดูกาล มัดรวบปากก๋วยแล้วตกแต่งยอดก๋วยด้วยดอกไม้ ที่หาได้ในท้องถิ่นในช่วงเวลานั้น เช่น ดอกหงอนไก่ ดอกดาวเรือง ใบเตย เป็นต้น
(2) ก๋วยอุ้ม คือ ก๋วยลักษณะเดียวกับก๋วยน้อยแต่มีขนาดใหญ่กว่า (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว) บรรจุสิ่งของเช่นเดียวกับก๋วยน้อย แต่จะนำกิ่งไม้ เช่น กิ่งมะขามปลายต้นไผ่ มาทำเป็นยอดก๋วยเพื่อแขวนสมุด ดินสอหรือของใช้อื่น ๆ พร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ตามกำลังศรัทธา
(3) สลากหลวง คือ สลากที่สร้างเป็นบ้านจำลองยกพื้นสูง ตกแต่งให้สวยงามด้วยกระดาษสี บรรจุของ เช่นเดียวกับก๋วยสองชนิดในเบื้องต้น แต่เพิ่มเติมเสื้อผ้าและของใช้อื่นๆเข้าไป นอกจากนี้เพื่อนบ้านจะมาร่วม สมทบเงินปัจจัยทำบุญด้วย เดิมนั้นคือสลากที่คนทั่วไปในชุมชนทำขึ้นอุทิศไปหาผู้ล่วงลับตามปกติ แต่ปัจจุบัน
ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีสามเณร-พระที่เคยบวชแล้วสึกหรือยังบวชจำพรรษาวัดนั้น ๆ เป็นผู้ทำขึ้น
(4) สลากก้างบุหรี่ คือ สลากที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ แขวนหรือประกอบด้วยมวนบุหรี่ผูกเป็นแพ เงินปัจจัย ของใช้ประจำวันเช่น สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี สมุด ดินสอ เสื้อผ้า ผ้าขาวม้า เป็นต้น สลากก้างบุหรี่เป็นสลากที่ต้องอาศัยระยะเวลาในเตรียมการ โดยเฉพาะการมวนบุหรี่และต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่คนที่ตานสลากก้างบุหรี่จึงค่อนข้างเป็นผู้มีฐานะทางการเงินดีหรือต้องการบุญใหญ่ ตามความเชื่อของคนล้านนาที่ว่า “ทานน้ำเป็นเศรษฐี ทานบุหรี่เป็นสะค่วย” คำว่า สะค่วย หมายถึง ผู้ที่มั่งคั่งนั่นเอง
ประเพณีในปีนั้น ๆ โดยแยกเป็น 2 กอง คือ ใบสลากก๋วยอุ้มกับใบสลากก๋วยน้อย ก่อนจะผสมใบสลากแต่ละกองเรียกว่า “สูนใบสลาก” เพื่อให้ใบสลากของแต่ละครอบครัวแยกจากกัน หลังเสร็จพิธีทางศาสนาพระสงฆ์ที่มาร่วมงานฉันเพลแล้ว คณะกรรมการวัดจึงนำใบสลากก๋วยน้อยแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมงาน นำไปอ่าน ให้เจ้าของก๋วยสลากฟังด้วยสียงอันดังและอกเสียงเป็นสำนียงท่าปลาส่วนใบก๋วยอุ้ม สลากหลวงและสลากก้างบุหรี่นั้น นำไปเฉลี่ยแจกจ่ายให้พระสงฆ์ที่มาร่วมทำพิธี เพื่อนำไปกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ที่ระบุไว้ในใบสลากนั้น ๆ
นี่อาจจะเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ เท่านั้นที่ผู้เขียนสามารถรวบรวมออกมาเพื่อสื่อสารได้ แม้จะไม่ได้คำตอบที่ว่า ทำไมวัฒนธรรมถึงไม่หายไปตามกาลเวลา? ในขณะที่สังคมหมุนเวียนเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะได้ยินอยู่อย่างสม่ำเสมอจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า “ยังอยากจะคงหลงเหลือไว้ให้ลูกหลานชาวท่าปลาได้เห็นได้สืบทอดต่อ ๆ ไปในอนาคต และอยากให้ผู้คนทั้งประเทศได้รู้จัก” ก็อาจจะช่วยการันตีบางอย่างได้ว่าอาจเพราะแบบนี้ อาจเพราะว่ายังคงมีคนส่งผ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่เสื่อมหายไปไหน
อ้างอิง
- จลอม พวนทอง, เอกสาร”อดีตแห่งความทรงจำของผู้เสียสละชาวอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์”
- สมจริง ตั้งใจจริง, เรื่องเล่าคนเหนือเขื่อน, หน้า 89.
- สมชาย ธรรมใจ, ศิริวัฒน์ จันต๊ะ “ประเพณีวัฒนธรรมที่โดเด่นของคนท่าปลา”หน้าที่ 40-47.
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)